OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของทีมที่ปรึกษาฯ ลงพื้นที่ศึกษาบริบทสถานศึกษาในเขตชุมชน ที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีการนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษามาใช้

วันที่สอง (12 พฤศจิกายน 2563) ของลงภาคสนามเพื่อศึกษาสภาพการณ์ที่เป็นจริงของสถานศึกษา (โรงเรียนในเขตชุมชนเมือง ที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ทีมที่ปรึกษาได้เรียนรู้พฤติกรรมเด็กที่หลากหลายและเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก ของแต่ละชั้นปี ซึ่งล้วนมีความสัมพันธ์กับบริบทของโรงเรียน สภาพสังคม วิถีความเป็นอยู่ และมากกว่าการได้ข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนาเครื่องมือในการพัฒนาและขยายผลหลักสูตรต้านทุจริต ที่อิงอยู่บนพื้นฐานของสภาพความเป็นจริง นั้น ทีมที่ปรึกษาพบว่า สถานะพ่อแม่ ที่อยู่อาศัย หรือ การทำมาหากิน ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่จะมาอธิบายพฤติกรรมเด็กเพราะการเรียนรู้เริ่มจากบ้าน

สำหรับ โรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม จากการพูดคุยกับคุณครูอย่างไม่เป็นทางการ ทีมที่ปรึกษา ได้รับข้อเสนอแนะที่น่าสนใจมากถึงหลักสูตรต้านทุจริต โดยทางคุณครูได้ให้ข้อเสนอแนะว่า “หากนำหลักสูตรดังกล่าว บังคับให้เป็น 1 สาระวิชา ให้หน่วยการศึกษา หรือ บังคับให้เรียน 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรืออยู่ในโครงสร้างหลักสูตรเลย ก็จะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการสานต่อเป้าประสงค์ของหลักสูตร คือ เพื่อสร้างเด็กที่จะไม่ทนต่อการทุจริต เพราะหากไม่มีการบังคับชัดเจนว่าให้เป็น 1 รายวิชา ไม่มีผลต่อการประเมิน หลักสูตรนี้อาจจะไม่ได้รับการสานต่ออย่างต่อเนื่องในการสร้างเด็กที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เพราะปัจจุบันเป็นเพียงการบูรณาการ เข้ากับกิจกรรมต่าง ๆ หรือโครงการณ์ต่าง ๆ และหากจะกล่าวถึงพฤติกรรมความซื่อสัตย์ของนักเรียนในโรงเรียนนี้ ทางคุณครูได้เล่าว่า หากเด็กเก็บของได้ จะมีการแจ้งครูทันที รอที่โรงเรียนจะมีการประกาศชื่นชมผ่านเสียงตามสาย เพื่อกระตุ้นให้เด็กรู้จักการทำดีแล้วจะได้รับคำชื่นชมอย่างไร และที่โรงเรียนยังมีการสอดแทรกสอนวิธีการใช้เงิน สอนการไม่ขโมยเงิน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีจุดที่น่าสนใจ คือ เด็กทุกช่วงวัยของโรงเรียนมีความกล้าที่จะพูดถึงสิทธิของตนเอง และเด็กนักเรียน 100 %ของที่นี่ไม่มีการบิดเบือนข้อมูลโดยครู จะดูจากผลลัพธ์ในการทำแล็บ ซึ่งเด็กมีการนำเสนอข้อมูลออกมาตรงตามผลแล็บ ไม่ได้มีการบิดเบือน เพื่อที่จะอยากได้คะแนนเพิ่มมากขึ้น สำหรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้น ยังพบว่ามีการชกต่อย แต่จะพบในเด็กวัยมัธยม หรือการขโมยการบ้านเพื่อนมาส่ง แล้วฉีกปกหนังสือ และการยืมเงินเพื่อนแล้วไม่คืน เป็นต้น

ด้าน โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐาน ทางคุณครู ได้เล่าว่า โรงเรียนได้รับคู่มือ “โตไปไม่โกง” จากกรมฯ แล้วนำไปบูรณาการในการสอนในภาควิชากลุ่มสาระสังคม โดยสอนตั้งแต่ระดับ ป.1-ป.6 เพื่อให้เด็กนักเรียนโตไปไม่โกง และยิ่งไปกว่านั้นยังได้มีการส่งครูไปอบรมเข้าร่วมอบรมกับทางกรมฯ แล้วนำมาสานต่อกับครูในโรงเรียนให้เขา ให้เข้าใจตรงกันและนำมาออกแบบกิจกรรมพร้อมออกแบบ “แบบประเมินผลลัพธ์จากการทำกิจกรรมในการสร้างเด็กที่มีคุณลักษณะพึงประสงค์” สำหรับพฤติกรรมที่ดีที่พบเห็นในโรงเรียน คือ เด็กเก็บของได้แล้วจะคืน เด็กมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เช่น มีการแบ่งพื้นที่ทำความสะอาดเด็กทุกคนก็จะไม่มีการละเลยหน้าที่ สำหรับการเรียนมีการเข้าเรียนให้ตรงเวลา ส่งงานตรงเวลา สำหรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ลอกการบ้านเพื่อน พูดไม่จริงกับครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ เรื่องการบอกผลการเรียนกับครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้นคุณครูยังได้สื่อว่าหากเด็กที่มีปัญหาหรือเด็กที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมส่วนใหญ่จะมาจากเด็กที่มีปัญหาคือพ่อกับแม่แยกทางกัน