เกี่ยวกับเรา

ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ตลอดระยะเวลากว่า 20 ศตวรรษที่ผ่านมาปรากฏให้เห็นชัดแล้วว่า “โลก” ที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้จะไม่ใช่โลกอีกต่อไป แต่จะกลายเป็น “เมือง” เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงถึงกันได้ทุกเมือง ทำให้ความเป็นเมืองแผ่ขยายและเติบโตออกไปอย่างต่อเนื่อง (urbanization) โดยในปัจจุบัน องค์การสหประชาชาติพบว่า ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกหรือคิดเป็น 54% อาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ. 2050 สัดส่วนของประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง (urban area) จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 66% ของประชากรทั้งโลก (United Nations, 2014) นั่นแสดงว่า เมือง (city) กำลังจะกลายเป็นโจทย์ใหม่ที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องให้ความสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในกรณีของประเทศไทย สถานการณ์การขยายตัวของความเป็นเมือง (urbanization) เปลี่ยนแปลงและขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน สัดส่วนของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองต่าง ๆ (urban area) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประชากรที่อาศัยในเขตชนบทกลับลดลง โดยจากรายงานขององค์การสหประชาชาติพบว่าภายในปี ค.ศ. 2020 สัดส่วนประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองของประเทศไทยจะมีจำนวนมากกว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตชนบท (United Nations, 2014)


แน่นอนว่า หาก “เมือง” กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าอาจจะขยายตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจนกระทั่งเขตที่อยู่อาศัยทั้งโลก “กลายเป็นเมือง (urban world)” ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญของภาครัฐ (government) ที่จะต้องแสวงหาวิธีการเพื่อจัดการกับความเป็นเมืองหรือพัฒนาเมืองอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการดำเนินชีวิตของประชาชนเกิดการพัฒนาอย่างสมดุลและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและความเป็นสมัยใหม่ของโลก ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในปัจจุบัน เราจะเห็นรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก เกิดความพยายามในการแสวงหาแนวคิดหรือแนวทางใหม่ ๆ เพื่อนำไปใช้สำหรับการพัฒนาเมืองให้สอดรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทิศทางการขยายตัวของเมือง และการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังเช่นแนวคิด “เมืองอัจฉริยะ (smart city)” ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าการสร้างเมืองให้มีความเป็นอัจฉริยะ (smartness) ด้วยกระบวนการพัฒนาเมืองเชิงบูรณาการเพื่อสร้างความเป็นอัจฉริยะให้กับเมืองในมิติต่าง ๆ นั้น มีประสิทธิภาพมากพอที่จะรองรับกับการขยายตัวของความเป็นเมืองและสามารถพัฒนาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเมืองให้ดีขึ้นอย่างรอบด้าน ดังที่รัฐบาลทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นหลายประเทศ เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน หรืออีกหลายเมืองทั่วโลกได้นำเอาแนวคิดเมืองอัจฉริยะนี้ไปใช้เพื่อเป็นอีกหนึ่ง “เครื่องมือ” สำหรับยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ


วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพัฒนาเมืองขอนแก่นที่ทำให้ขอนแก่นกลายเป็นผู้นำหรือต้นแบบในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้กับเมืองอื่น ๆ มากกว่า 10 แห่งทั่วประเทศไทยได้นำไปใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองของตนเอง ตลอดจนวิทยาลัยฯ ยังทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) และเครือข่ายพันธมิตรเพื่อการพัฒนาเมืองของประเทศไทย (City Development Alliance: CDA) ที่ประกอบด้วยสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทย 7 แห่งได้แก่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยบูรพา รวมถึงบริษัทพัฒนาเมืองที่ถือเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอีก 12 เมือง ซึ่งได้ร่วมทำงานวิจัยและงานพัฒนาเมืองร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ได้พบเห็นโอกาสและความท้าทายในการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองของประเทศไทยในหลายมิติ และที่ผ่านมา วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานด้านการพัฒนาเมืองให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศมาโดยตลอด


ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น จึงมีความประสงค์ที่จะจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่” (Operations and Promotion Center for Livable Smart City Development) ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่สังคมไทยต่อการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่กำลังเกิดขึ้น พัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเมือง รวมถึงพัฒนาศักยภาพหรือขีดความสามารถในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยให้สามารถขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย “ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่” (Operations and Promotion Center for Livable Smart City Development) นี้ เป็นหน่วยงานภายในสังกัดของวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประเภทหน่วยงานที่จัดตั้งตามภารกิจเฉพาะหรือตามยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย การพัฒนาศักยภาพขององค์กร การให้บริการวิชาการแก่สังคม ขยายโอกาสการพัฒนากับสถาบันต่าง ๆ รวมถึงสามารถสร้างรายได้จากการให้บริการวิชาการอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาวด้วย