OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของทีมที่ปรึกษาฯ ลงพื้นที่ศึกษาบริบทสถานศึกษาในเขตชนบท ที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีการนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษามาใช้

: วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ทีมที่ปรึกษาประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต ได้ลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อศึกษาบริบทจากสถานศึกษาที่มีการนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษามาใช้ โดยแยกทีมลงพื้นที่แตกต่างกัน คือ เป็นโรงเรียนในเขตชนบท และโรงเรียนในเขตชุมชนเมือง ที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยในส่วนของโรงเรียนในเขตชนบทที่เดินทางไปลงภาคสนามเก็บข้อมูล ศึกษา และขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ คุณครูผู้สอน ทั้งสิ้น 4 แห่ง คือ

  1. โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา เปิดสอนในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายโดยแบ่งห้องเรียนในแต่ละระดับชั้นเป็น 3 และ 2 ห้องตามลำดับ โรงเรียนนี้มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 335 คน ในการหารือเพื่อการสร้างเครื่องมือวัดประเมินครั้งนี้มีผู้อำนวยการสถานศึกษา นายวินัย รุมฉิมพลี รวมถึงผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น กล่าวคือ ครูหัวหน้าฝ่ายปกครอง หัวหน้าฝ่ายวิชาการ ครูหัวหน้าหมวดวิชาสังคม ครูประจำชั้น ครูสายยนต์ สิงหศรี ครูทิวาภรณ์ สุกุมาลย์ ครูจีรวัชร์ หลานวงศ์ ครูณรงค์ศักดิ์ มาทะวงษ์ เข้ามาร่วมสะท้อนบริบทที่เกิดขึ้น

2.โรงเรียนศรีเสมาวิทยาเสริม เปิดสอนในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายโดยแบ่งห้องเรียนในแต่ละระดับชั้นเป็น 2 ห้อง โรงเรียนนี้มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 316 คน ในการหารือเพื่อการสร้างเครื่องมือวัดประเมินครั้งนี้มีผู้อำนวยการ นายวันเผด็จ มีชัย เข้ามาร่วมสะท้อนบริบทที่เกิดขึ้น

3. โรงเรียนพระยืนวิทยาคาร เปิดสอนในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายโดยแบ่งห้องเรียนระดับชั้น ม. 1 แบ่งเป็น 4 ห้อง ระดับชั้น ม.2-ม.4 ระดับชั้นละ 3 ห้อง และระดับชั้น ม.5-ม.6 ระดับชั้นละ 2 ห้อง โรงเรียนนี้มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 444 คน ในการหารือเพื่อการสร้างเครื่องมือวัดประเมินครั้งนี้มีรองผู้อำนวยการ ดร.พินิจ มีคำทอง เข้ามาร่วมสะท้อนบริบทที่เกิดขึ้น

4. โรงเรียนบ้านบะแค เปิดสอนในระดับชั้นอนุบาล-ป.6 ทุกระดับชั้นมี 1 ห้องเรียน โรงเรียนนี้มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 222 คน ในการหารือเพื่อการสร้างเครื่องมือวัดประเมินครั้งนี้มีผู้อำนวยการ นายธานินทร์ เลิศพันธ์ รวมถึงผู้มีประสบการณ์ท่านอื่นๆในโรงเรียน กล่าวคือ นางสาวอนุธิดา  ฟูมเฟือย นางสาวชญานิศ  วรดี เข้ามาร่วมสะท้อนบริบทที่เกิดขึ้น

ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ประชากรกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาพฤติกรรมความซื่อสัตย์ของเด็กและเยาวชนจากทั้ง 4 กลุ่ม คือ ตัวผู้ถูกประเมิน ผู้ปกครองของผู้ถูกประเมิน ครูผู้สอน และเพื่อนของผู้ถูกประเมิน พบว่าการหารือจากทั้ง 4 โรงเรียนให้ความเห็นตรงกันว่า ข้อมูลที่ได้จากครูผู้สอนจะเป็นข้อมูลที่สะท้อนพฤติกรรมความซื่อสัตย์สุจริตของผู้ถูกประเมินได้ตรงตามความเป็นจริงมากที่สุด เพราะการคลุกคลีอยู่กับเด็กในสังคมโรงเรียนของครูผู้สอน ครูประจำชั้น จะรู้และสังเกตพฤติกรรมเด็กได้ว่า คนนี้เป็นอย่างไร เพราะเวลาที่เด็กและครูใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในโรงเรียนไม่น้อยกว่าวันละ 8 ชั่วโมง มันมากพอที่จะทำให้รู้ว่าเด็กแต่ละคนมีพฤติกรรมอย่างไร เพราะตามธรรมชาติพฤติกรรมที่แท้จริงจะค่อย ๆ สะท้อนออกมาให้คนรอบๆกายได้สัมผัส มันไม่สามารถวัดได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ หรือวัดจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง
การวัดผ่านตัวผู้ประเมินเอง โดยธรรมชาตินักเรียนหรือเยาวชนจะตอบตามสิ่งที่ผู้ประเมินอยากจะเห็น ตอบตามหลักการ มันเป็นกระบวนการปกปิดความจริงเพื่อให้ผู้อื่นยอมรับ ทำให้ข้อมูลที่ได้จากการประเมินนี้ไม่ตรงกับพฤติกรรมที่แท้จริง
การวัดผ่านผู้ปกครอง โดยธรรมชาติผู้ปกครองจะเข้าข้างหรืออวยบุตรหลานตนเองเพื่อภาพลักษณ์ที่ดี เพื่อการยอมรับทางสังคม แต่อีกนัยหนึ่ง รองผู้อำนวยการโรงเรียนพระยืนพิทยาคาร ดร.พินิจ มีคำทอง ได้ให้ประเด็นไว้อย่างน่าสนใจว่า ผู้ปกครองจะสะท้อนบุตรหลานของตนเองตามความเป็นจริงเพราะเมื่อรู้ว่าบุตรหลานบกพร่องตรงไหนก็จะได้แก้ไขและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
การวัดผ่านเพื่อนของผู้ถูกประเมิน เป็นอีกข้อมูลหนึ่งที่น่าเชื่อถือและสะท้อนพฤติกรรมของผู้ถูกประเมินได้ดี เพราะเขาเป็นบุคคลที่อยู่ในสังคมโรงเรียน สังคมห้องเรียนร่วมกันทำให้เขาสามารถรับรู้ได้ว่าเพื่อนของเขาเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อพิจารณามิติทางสังคม กลับพบประเด็นที่น่าสนใจ กล่าวคือในสังคมชนบทเด็ก ๆ มักถูกเลี้ยงดูโดยปู่ ย่า ตา ยาย เป็นส่วนใหญ่ และวิถีชนบทส่วนใหญ่ชาวบ้านจะใช้เวลาในการทำมาหากิน ทำให้เวลาในการเลี้ยงดูบุตรหลานหายไป หรือนอกจากนี้ปัญหาการตั้งท้องก่อนวัยอันควร ต่าง ๆ เมื่อเด็กเกิดมาครอบครัวอาจไม่มีความพร้อมในการเลี้ยงดู เหล่านี้ เกิดเป็นช่องว่างระหว่างครอบครัว ครอบครัวของเด็ก ๆ ที่ถูกประเมินก็มีส่วนสำคัญในการแสดงพฤติกรรมของเด็ก คำถามที่น่าสนใจในมิตินี้คือ ครอบครัวสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้เขาได้มั้ย หรือในบริบทที่เขาเผชิญอยู่มีปัญหาอย่างไร เพราะสุดท้ายแล้วต่อให้ความพยายามของสถาบันการศึกษาจะเต็มร้อยแต่หากบริบทสังคมครอบครัวของเด็กยังไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในพฤติกรรมดังกล่าวได้ ต่อให้หลักสูตรจะดีมีมาตรฐานอย่างไรผลสัมฤทธิ์ที่คาดหมายไว้ก็อาจจะยังเป็นไปไม่ได้
ประเด็นต่าง ๆ ที่ได้จากการลงพื้นที่ศึกษาบริบทของโรงเรียนทั้งจากการพูดคุย การหารือกับผู้เชี่ยวชาญ พูดคุยกับเด็ก การสังเกตในประเด็นที่เกี่ยวกับพฤติกรรมยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริตทั้ง 13 แห่งตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ต่อเนื่องจนมาถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยทั้ง 13 แห่งนี้ มีทั้งอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วยช่วงชั้นปฐมวัย ประถมต้น ประถมปลาย มัธยมต้น และมัธยมปลาย ทีมผู้ประเมินได้รับข้อมูลและประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการนำมาพิจารณาสร้างเครื่องมือในการวัดประเมินต่อไป เพื่อให้เครื่องมือดังกล่าวสะท้อนข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด และมีความเหมาะสมกับบริบทที่กลุ่มเป้าหมายเป็นอยู่มากที่สุด