วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ทีมที่ปรึกษาโครงการประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต ตามโครงการผลักดันหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ในการใช้หลักสูตรฯเพื่อพัฒนาและขยายผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ลงภาคสนามเพื่อศึกษาสภาพการณ์ที่เป็นจริงของสถานศึกษา เพื่อให้ได้มาซึ่งกระบวนการสร้างและพัฒนาเครื่องมือที่อิงอยู่บนพื้นฐานของสภาพความเป็นจริง สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา พร้อมทั้งสังเกตพฤติกรรมนักเรียนในเบื้องต้น โดยในวันดังกล่าวนั้น ทีมที่ปรึกษาได้ลงภาคสนามศึกษาสถานศึกษาที่สังกัด สพฐ. จำนวน 4 โรงเรียน อันประกอบด้วย โรงเรียนชุมแพศึกษา โรงเรียนบ้านขามป้อม โรงเรียนหนองนาคำ และโรงเรียนเทศบาลตำบลหนองแก โดยในแต่ละโรงเรียน ทีมที่ปรึกษาได้มีการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการกับกลุ่มครู กลุ่มนักเรียน เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับความคิด แง่มุม รวมถึงพฤติกรรมเด็กที่พึงมีในการสะท้อนถึงความซื่อสัตย์สุจริต และความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของสถานศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการนำหลักสูตรไปใช้
ภาคเช้านั้น ได้เริ่มต้นที่โรงเรียนชุมแพศึกษา กับกิจกรรมระดมสมองกับครูผู้สอน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับมัธยมศึกษา ขอบพระคุณ คุณครูมณทิรา ดีบุญมี ณ ชุมแพ ครูกรกนก หลอดอาสา ครูชำนาญการพิเศษ และครูภรณ์ทิพย์ ชูไตรรัตน์ ครูผู้สอน สำหรับการพูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อให้เข้าถึงบริบทของครูผู้ดูแลนักเรียน
ต่อเนื่องที่ โรงเรียนหนองนาคำ จากการพูดคุย ทางโรงเรียนได้นำหลักสูตรต้านทุจริตมาบูรณาการกับการสอน กับทุกระดับที่เปิดสอน พร้อมมีการจัดทำโครงการให้นักเรียนได้เข้าใจถึงความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ว่าจะเป็น “โครงการบริษัทสร้างการดี” โดยนักเรียนจะมีการรวมกลุ่มกัน และสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเอง เช่น ผลิตภัณฑ์จากมะนาว โดยเด็กนักเรียนจะนำมะนาวที่อยู่ในสวนมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ และนำมาขายกันในโรงเรียน หรือ “โครงการครอบครัวเด็กสานกระติบขายร้อยล้าน” โดยโครงการดังกล่าว ทางโรงเรียนได้มีการสอดแทรก ให้เด็กรู้จักการจัดการที่มีความโปร่งใส ทั้งจากการระดมทุน ว่าจะต้องระดมทุนด้วยวิธีไหน ใช้ต้นทุนอย่างไร ขายเท่าไหร่ มีกระบวนการสร้าง และปันผลอย่างไร หรือแม้กระทั่ง “โครงการโรงเรียนสีขาว” หรือ ”โครงการนักออมที่ดี” ซึ่งทุก ๆ โครงการ ครูตฤณวัฒน์ พลเยี่ยม ผู้ให้ข้อมูล ได้เล่าว่า ทุกโครงการจะเน้นปลูกฝังพฤติกรรมเด็กที่พึงมีในการสะท้อนถึงความซื่อสัตย์สุจริต โดยก่อนที่จะมีการทำโครงการก็จะต้องมีการทำเช็คลิสต์ก่อนว่า เด็กมีความซื่อสัตย์สุจริตรหรือไม่ หรือเคยพบเห็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตขึ้นกับตนเองหรือไม่ และอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจจากการพูดคุย คือ ที่นี่มีการประชุมครูผู้สอน เกี่ยวกับพฤติกรรมนักเรียนอยู่ทุกสัปดาห์ โดยมีการสังเกตพฤติกรรมเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ความมีจิตอาสา ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เพราะทางโรงเรียนจะมีการแบ่งเขตพื้นที่รับผิดชอบในเรื่องของการเก็บขยะ เพื่อให้เด็กรู้จักถึงความสะอาด และนึกถึงส่วนรวม ไม่เอาเปรียบกัน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการจัดบอร์ดประดับดาวชื่นชม โดย สภานักเรียน เพื่อเป็นการชื่นชมนักเรียนที่ทำความดี และกระตุ้นให้เกิดการทำความดีแล้วจะได้รับคำชม
และ โรงเรียนบ้านขามป้อม โดยทีมที่ปรึกษาได้รับฟังการออกแบบให้เด็กมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เช่น มีความซื่อสัตย์สุจริต โดยคุณครูได้ยกตัวอย่าง ท่าทีที่ไม่ซื่อสัตย์และท่าทีที่ซื่อสัตย์ อย่างน่าสนใจ พร้อมเล่าถึงการสอดแทรกหลักสูตรต้านทุจริตมาบูรณาการกับการสอน และการทำกิจกรรมในทุกรูปแบบของโรงเรียน เช่น การอบรมหน้าเสาธง โดยคุณครูยังได้เล่าเสริมว่า บทบาทในการดูแลเด็กนักเรียน เป็นหน้าที่ของทุกคน เพราะครูทุกคนก็อยากให้เด็กได้ดี และหากจะมองในเรื่องของความสัมพันธ์นั้น ระดับความสัมพันธ์ของครูกับเด็ก ถือเป็นระดับความสัมพันธ์ต้นน้ำที่สำคัญมาก เพราะบริบททางสังคมของเด็กในโรงเรียนนี้ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่กับครอบครัวที่มีตา กับ ยายเลี้ยงดู ยิ่งไปกว่านั้น ทีมที่ปรึกษา ยังได้พูดคุย กลุ่มนักเรียน โรงเรียนบ้านขามป้อม ที่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความคิด ของพวกเขาเองว่า “ตัวอย่างเพื่อนที่มีพฤติกรรมไม่ดี นั้นมีลักษณะอย่างไร ซึ่งนักเรียนได้ตอบตรงกันว่ามีนิสัยชอบแกล้งเพื่อน เปิดกระโปรงเพื่อน ขโมยปากกาเพื่อน ดึงกางเกงเพื่อน ตีเพื่อน ส่งเสียงดัง ไม่เข้าแถวให้เป็นระเบียบ ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบเพื่อน และการโกง โดยนักเรียนได้กล่าวเสริมว่า การโกงในที่นี่ คือเราช่วยบอกการบ้าน แต่เวลาเราทำไม่เป็นเพื่อนกลับไม่ช่วยเรา พร้อมยกตัวอย่างเพื่อนที่ดี จะต้องมีลักษณะอย่างไร เด็กนักเรียนก็ได้อธิบายว่าเพื่อนที่ดีจะต้องมีลักษณะช่วยเหลือเพื่อนคนอื่น เช่น ถ้าเพื่อนไม่มีเงินมากินข้าว ก็จะแบ่งปันเพื่อน มีจิตอาสาเก็บขยะ ช่วยทำงานบ้าน ปลูกผัก ไม่พูดกวนเวลาครูสอน รู้จักแนะนำสอนเพื่อน เป็นต้น ซึ่งจากการพูดคุยเด็กนักเรียนที่นี่ มีความเข้าใจ พฤติกรรมที่สะท้อนความซื่อสัตย์สุจริตมาก”
ปิดท้ายที่โรงเรียนเทศบาลตำบลหนองแก โรงเรียนแห่งนี้มีการนำเอานำเอารายวิชา ทิศทางพลเมือง มาปรับกับการทำกิจกรรมในโรงเรียน คือ “กิจกรรมโตไปไม่โกง” และ ”กิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง” โดยกิจกรรมทางวิชาการดังกล่าว ทางโรงเรียน มุ่งปลุกจิตสำนึกและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริต ซึ่ง ครูเกศพิบูลย์ ดีมูล ครูวัชราภรณ์ จันทิมา สอน และครูปริยา ประชากูล ได้เล่าถึงการสอดแทรกการสอนมารยาท การเข้าสังคม และการทำกิจกรรมในที่สาธารณะ ทั้งนี้ หากจะพูดถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กในโรงเรียน เช่น ไม่เข้าร่วมกิจกรรม ไร้ความรับผิดชอบกับเวรที่ได้รับมอบหมายนั้น ทางโรงเรียนจะมีวิธีการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน และสั่งสอนโดยใช้วิธีการให้เหตุผลไม่มีการดุว่า และใช้การสัมผัส โอบกอดกับเด็ก พร้อมบอกสอนแทน จึงทำให้เวลาสอน หรือนำพาทำกิจกรรมต่าง ๆ ครูและนักเรียนจะมีความเข้าใจและใกล้ชิดกันอย่างมาก
ซึ่งจากการลงภาคสนามครั้งนี้ ภายใต้บริบทที่แตกต่างของโรงเรียนแต่ละแห่งในสังกัด สพฐ.ทุกส่วนล้วนมีบทบาทสำคัญในการออกแบบคนดี และทำให้ทีมที่ปรึกษามองต่อว่าเราจะพัฒนาเครื่องมือในการสร้างเด็กที่มีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างไร ค่ะ