OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ  ประชุมสรุปผลการประเมินผลสัมฤทธิ์หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Zoom Cloud Meeting)

ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ โครงการ “การติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วยกระบวนการขับเคลื่อนทางสังคม เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน นักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ ผู้บริหารทางการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย ข้าราชการตำรวจทหาร บุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ให้เข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต เพื่อนำไปสู่คุณภาพสังคมที่ดีมีคุณภาพของประเทศในอนาคตต่อไป ได้จัดการประชุมสรุปผลการประเมินผลสัมฤทธิ์หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Zoom Cloud Meeting) ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จากผู้ที่ได้นำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาบุคลากร

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินโครงการ “การติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อนึ่ง การติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา 5 หลักสูตร ซึ่งถือเป็นหลักสูตรที่คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ โดยมีมติให้กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สะท้อนให้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาที่หน่วยงานต่าง ๆ นำไปปรับใช้ มีผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด ปัญหาอุปสรรค รวมถึงข้อเสนอแนะในการปรับปรุงหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาขึ้นได้อย่างแท้จริง

โดยในวันจันทร์ ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ทางโครงการฯ ได้จัดการประชุมสรุปผลการประเมินผลสัมฤทธิ์หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเวลา 13.30-16.00น. ขึ้นในรูปแบบการประชุมทางไกล (Zoom Cloud Meeting)  พร้อมเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา เข้าร่วมการประชุมดำเนินการสะท้อนผลวิจัยร่วมกับคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย สำหรับการประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัยที่จะเป็นเครื่องมือและเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญ เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 โดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่พร้อมเป็นภาคีเครือข่ายร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ช. ในการขับเคลื่อนสู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตต่อไป

ตามที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้คัดเลือกทีมมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นำคณะนักวิจัยจากหลายศาสตร์ อันประกอบด้วย อ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ผศ.ดร.จัตุภูมิ เขตจัตุรัส ผศ.ดร.วชิราวุธ ธรรมวิเศษ รศ.ดร.สุพรรณี อึ้งปัญสัตวงศ์ รศ.วิลาวรรณ พันธุ์พฤกษ์ ผศ.ดร.พัชรินทร์ พูนทวี อ.ณรงค์เดช มหาศิริกุล นางสุภาวดี แก้วคำแสน นางสาวภาภรณ์ เรืองวิชา และนายภัทรพล ขวัญสุด ร่วมตอบโจทย์วิจัยดังกล่าว ซึ่งโครงการได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 และเพื่อนำเสนอข้อค้นพบข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารสถานศึกษา จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 2,106 แห่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ได้นำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาบุคลากรทั้งที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  กรุงเทพมหานคร  สถาบันอุดมศึกษา  และผู้กำกับดูแลหลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม  กองทัพบก  กองทัพเรือ  กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้กำกับดูแลหลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช./บุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจสังกัดหน่วยงานภาครัฐระดับกระทรวง/กรม หน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสังกัดหน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจ จำนวน 69 หน่วยงาน ได้รับรู้ว่าทุกท่านที่มีส่วนทำให้การติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการร่วมดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การติดตามความก้าวหน้าและการรายงานผลการประเมิน รวมถึงช่องทางในการให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการประเมินผลสัมฤทธิ์หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และเป็นระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ยึดมั่นหลักการของการประสานความร่วมมือของสถานศึกษา สำนักงาน ป.ป.ช. คณะนักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอนหรือผู้รับผิดชอบหลักสูตร นักเรียน และผู้ปกครอง ซึ่งล้วนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการเรียนการสอนและการฝึกอบรม ได้ร่วมเป็นผู้ประเมินผ่านระบบดังกล่าว

ในการจัดประชุมสรุปผลดังกล่าว ในช่วงพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก นายณรงค์  รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช.  กล่าวเปิดและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนสังคมด้วยหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” โดยมี นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เกียรติกล่าวรายงาน พร้อมมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวแสดงความขอบคุณ จากนั้นเป็นกิจกรรมการสรุปผลการดำเนินโครงการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา โดยแยกเป็นแต่ละหลักสูตร อันประกอบด้วย หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รายวิชาเพิ่มเติม การป้องกันการทุจริต) หลักสูตรอุดมศึกษา (วัยใส ใจสะอาด “Youngster with good heart”) หลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ (ตามแนวทางรับราชการ กลุ่มทหารและตำรวจ) หลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช./บุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ (สร้างวิทยากรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต) และหลักสูตรโค้ช (โค้ชเพื่อการรู้คิดต้านทุจริต) โดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ และคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ต่อด้วย กิจกรรม Research Reflection: “ปัจจัยความสำเร็จและเงื่อนไขสำคัญของการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” ร่วมกับนักวิจัย โดย ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา อันประกอบด้วย นางฑิมพิกา ญาธิป ศึกษานิเทศก์ สพป.นม.1 พร้อมด้วย ดร.สุปรีชา ครูศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนตำบลบ้านโพธิ์ ดำเนินการสะท้อนผลวิจัยหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รายวิชาเพิ่มเติม การป้องกันการทุจริต)  หลักสูตรอุดมศึกษา (วัยใส ใจสะอาด “Youngster with good heart”) โดย ผศ.ภูวเดช วงศ์เคี่ยม ประธานหลักสูตรสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม หลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ (ตามแนวทางรับราชการ กลุ่มทหารและตำรวจ) โดย นาวาอากาศเอกหญิง ดร. อัจฉรา นุตตะโร ประจำกรมกำลังพลทหารอากาศ และรักษาราชการหัวหน้าแผนกประเมินกำลังพล กองควบคุมและพัฒนากำลังพล สำนักการปกครองและพัฒนากำลังพล กรมกำลังพลทหารอากาศ และหลักสูตรโค้ช (โค้ชเพื่อการรู้คิดต้านทุจริต) โดย นายเกษม  จิตติวุฒินนท์ ตำแหน่ง : เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ

สำหรับ ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ยุทธศาสตร์ที่ 1 “สร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต” นั้นมุ่งเน้นให้ความสำคัญในกระบวนการปรับสภาพสังคมให้เกิดภาวะที่ “ไม่ทนต่อการทุจริต” โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมในทุกระดับช่วงวัย ตั้งแต่ปฐมวัยเพื่อสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต และปลูกฝังความพอเพียง มีวินัย ซื่อสัตย์สุจริต ดำเนินการผ่านสถาบัน หรือกลุ่มตัวแทนที่ทำหน้าที่ในการกล่อมเกลาทางสังคม และได้กำหนดกลยุทธ์ 4 กลยุทธ์ คือ กลยุทธ์ที่ 1 ปรับฐานความคิดทุกช่วงวัยตั้งแต่ปฐมวัย ให้สามารถแยกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม กลยุทธ์ที่ 2 ส่งเสริมให้มีระบบและกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมเพื่อต้านทุจริต กลยุทธ์ที่ 3 ประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือต้านทุจริต และกลยุทธ์ที่ 4 เสริมพลังการมีส่วนร่วมของชุมชน (Community)  และบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อต่อต้านการทุจริต โดยกลยุทธ์ที่ 1  กลยุทธ์ที่ 2 และกลยุทธ์ที่ 3 นำสู่การจัดทำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti – Corruption Education) รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมและสื่อการเรียนรู้สำหรับทุกช่วงวัย

คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เห็นชอบหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา
(Anti – Corruption Education) ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ ประกอบด้วย 5 หลักสูตร ได้แก่ 1. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รายวิชาเพิ่มเติม การป้องกันการทุจริต) 2. หลักสูตรอุดมศึกษา (วัยใส ใจสะอาด “Youngster with good heart”) 3. หลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ (ตามแนวทางรับราชการ กลุ่มทหารและตำรวจ) 4. หลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช./บุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ (สร้างวิทยากรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต) และ 5.หลักสูตรโค้ช (โค้ชเพื่อการรู้คิดต้านทุจริต) โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และประสานงานกับสำนักงาน ป.ป.ช. อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อพิจารณานำหลักสูตรไปปรับใช้ในโครงการฝึกอบรมหลักสูตรข้าราชการ บุคลากรภาครัฐ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจที่บรรจุใหม่

ในการนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงหน่วยงานอื่นที่มีสถานศึกษาในสังกัด โดยได้นำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 และสถาบันอุดมศึกษาได้นำหลักสูตรอุดมศึกษาไปปรับใช้ในการเรียนการสอนตามความพร้อมของแต่ละสถาบัน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำหลักสูตรไปพิจารณาปรับใช้กับกลุ่มเป้าหมายในการฝึกอบรมตามความพร้อมและความเหมาะสมของแต่ละหน่วยงาน ทั้งหลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ หลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช. / บุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ  และหลักสูตรโค้ช โดยมีรายวิชาที่มุ่งสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความหมาย และขอบเขตของการกระทำทุจริตในลักษณะต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ความเสียหายที่เกิดจากการทุจริต ความสำคัญของการต่อต้านการทุจริต 4 ชุดวิชา ได้แก่ 1) การคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม 2) ความอายและความไม่ทนต่อการทุจริต 3) STRONG: จิตพอเพียงต้านทุจริต และ 4) พลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม  

          ทั้งนี้ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
(พ.ศ. 2561-2580) ได้มุ่งเน้นการพัฒนาคนและการพัฒนาระบบ ในส่วนการพัฒนาคน เน้นการปรับพฤติกรรม “คน” ทุกกลุ่มในสังคม โดยกลุ่มเด็กและเยาวชน เน้นการปลูกฝังและหล่อหลอมให้มีจิตสำนึกและพฤติกรรมยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตผ่านหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา  กลุ่มประชาชนทั่วไป เน้นการสร้างวัฒนธรรมและพฤติกรรมสุจริต ควบคู่กับส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ กลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่งเสริมการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงาน รู้จักแยกแยะเรื่องส่วนตัวออกจากหน้าที่การงาน พร้อมกับสร้างจิตสำนึกและค่านิยมของบุคลากรในการต่อต้านการทุจริต สนับสนุนการมีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง สอดส่อง และแจ้งเบาะแสการทุจริต

         จึงนับได้ว่าการดำเนินโครงการ “การติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” ดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วยกระบวนการขับเคลื่อนทางสังคม เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน นักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ ผู้บริหารทางการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย ข้าราชการตำรวจทหาร บุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ให้เข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต เพื่อนำไปสู่คุณภาพสังคมที่ดีมีคุณภาพของประเทศในอนาคตต่อไป