ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรม ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีทิศทางกับเวทีสาธารณะ “การสังเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดสู่พื้นที่ ทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาระดับท้องถิ่นภาคตะวันออก (การทำ Tech Foresight ภาคตะวันออก)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับทุนจากกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้ทำการจัดทำคลังความรู้ (Knowledge Stock) ในการพัฒนาพื้นที่ของประเทศไทย จัดทำแผนในการถ่ายทอดความรู้สู่กลไกพัฒนาพื้นที่ รวมถึงจัดทำ Knowledge Roadmap ทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมในการพัฒนาพื้นที่ของประเทศไทยในแต่ละภูมิภาค โดยร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ 4 แห่ง ใน 4 ภูมิภาค อันได้แก่ 1. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2.คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 3. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 4. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ในแต่ละที่ก็จะทำหน้าที่เป็นแม่ข่าย (Node) ในการประสานกับเครือข่ายประชาคมวิจัย ทั้งในสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และชุมชนในแต่ละภูมิภาค เพื่อทำให้เกิดคลังความรู้กลางในการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงการจัดทำแผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลไกพัฒนาพื้นที่
โดยในวันที่ 3 ธันวาคม 2564 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ประจำภูมิภาคตะวันออก ได้จัดการประชุมการสังเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดสู่พื้นที่ฯ เพื่อนำเสนอผลการรวบรวมข้อมูล Knowledge Stock อันประกอบด้วย ข้อมูลนักวิจัย เทคโนโลยีนวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาพื้นที่ของเครือข่ายสถาบันการศึกษาในภาคกลางพร้อมหลักสูตรที่พร้อมถ่ายทอดสู่กลไกการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงการจัดลำดับของเทคโนโลยีที่พร้อมใช้ในการพัฒนาพื้นที่ และร่วมกันทำแผนที่นำทางในการพัฒนาความรู้ เทคโนโลยี (Technology Roadmap) ในการพัฒนาภาคตะวันออกต่อไป ขึ้น ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
โดยการจัดเวทีครั้งนี้ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้บริหารโครงการวิจัย “การสังเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อถ่ายทอดสู่พื้นที่ทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาระดับท้องถิ่น (Technology Roadmap & Knowledge Stock)” ได้กล่าววัตถุประสงค์โครงการฯ และที่มาของการทำ Tech Foresight ในแต่ละภูมิภาค จากนั้น ผศ.ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และคณะ นำเสนอผลการสำรวจรวบรวมข้อมูล Knowledge Stock อันได้แก่ นวัตกรรม ในการพัฒนาระดับท้องถิ่น ข้อมูลหลักสูตรที่พร้อมจะถ่ายทอด (Key Curriculum) รวมถึงแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่องค์กรปกครองท้องถิ่นของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และเครือข่ายภาคตะวันออก และนำพาผู้เข้าร่วมเวทีสาธารณะ Tech Foresight ภาคตะวันออก ทั้ง on-site และon-line ร่วมรับฟังการนำเสนอผลงาน แพลตฟอร์ม “กิน-อยู่-ดี” ที่ศูนย์ Advance Innovation Center ซึ่งถือเป็นระบบแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ในการบริการการดูแลการใช้ชีวิตและดูแลสุขภาพระยะยาว ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตปัจจุบันของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมผู้สูงอายุ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ฝุ่นละออง (PM 2.5) ความปลอดภัยทั้งด้านอาการการกิน สุขภาพ อยู่อาศัยและทรัพย์สิน โดยนวัตกรรมทั้งหมดนี้ ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยคนไทย เพื่อให้คนไทย ได้ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมที่ดีและมีประสิทธิภาพเทียบเท่าต่างชาติได้อย่างภาคภูมิใจ
สำหรับการนำเสนอผลงานเทคโนโลยีที่พร้อมใช้ในการพัฒนาพื้นที่ และนวัตกรรมที่พร้อมถ่ายทอดสู่การพัฒนาพื้นที่ ภาคตะวันออก ภายใต้การนำของ ผศ.ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เริ่มต้นที่ผลงาน “Saensuk Smart City” ซึ่งเป็นการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน (Area-based Innovation for Community)โดยมี ดร.ภาณุวัฒน์ ด่านกลาง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นำเสนอถึง การถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากข้าวเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว การพัฒนาศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ และการแปรรูปเห็ดฟางพร้อมปรุงและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม กับการจัดจำหน่าย
ต่อด้วย การนำเสนอผลิตภัณฑ์จากมะม่วง และการนำเทคโนโลยีพร้อมใช้ สู่การพัฒนาพื้นที่ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครนิทร์ ในฐานะมหาวิทยาลัยเครือข่ายภาคตะวันออก นำโดย ดร.นรากร ศรีสุข รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ นำเสนอวิจัยและนวัตกรรมมะม่วงแปดริ้ว โครงการพัฒนาแปลงเกษตรสมัยใหม่ร่วมกับภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะให้แก่ชุ่มชนในพื้นที่ โครงการพัฒนาแปลงเกษตรสมัยใหม่ร่วมกับภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะให้แก่ชมชนในพื้นที่ และโครงการจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่แปลงเกษตรแบบอัจฉริยะ(Smart farmer) เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลแปลงเกษตร ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับอาจารย์สุวิมล ขวัญศิริวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคุณกฤชคุณ ผาณิตญาณกร ผู้จัดการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ
การนำเสนอนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ของคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี โดย อาจารย์วสุพล เผือกนำพล รองคณบดีคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้นำเสนอโครงการพัฒนาท้องถิ่น ที่ตอบสนองการมุ่งสร้างคน Upskill/Reskillด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่สังคมดิจิทัล การออกแบบนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่มุ่งแก้ปัญหาในพื้นที่และตอบโจทย์ท้องถิ่น การใช้ข้อมูลจากภายในและภายนอกเพื่อสร้างวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยน และผลผลิตต้นแบบทางนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริงจับต้องได้ เข้าถึงง่ายยืดหยุ่น และคล่องตัว จะเห็นได้ชัดจากโครงการ AI-YARA ระบบปัญหาประดิษฐ์เพื่อการตรวจจับและแจ้งเตือนช้างป่า ระบบเกษตรแม่นยำสูงผ่านโครงข่าย LoRa Wan การวิจัยระบบจำแนกภาพถ่ายเบาหวานขึ้นจอประสาทตา แบบอัตโนมัติ และระบบแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด และนำเสนอถึงโครงการบริการวิชาการกับหน่วยงานอื่น เช่น โครงการศึกษานวัตกรรมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CC TV) ความปลอดภัยสูง ของสำนักงานปลัดกระทรวง กลาโหม โครงการการจำแนกเสียงเรือด้วยเทคนิคดีมอนและโลฟาร์บนไมโครคอนโทรเลอร์ STM 32 และการเป็นที่ปรึกษาและพัฒนาแอพลิเคชั้น “ช่างอาชีวะ” ช่างพันธ์ R อาชีวะซ่อมทั่วไทย
และปิดท้ายที่งานวิจัยสู่การนำไปใช้งานเชิงพานิชย์ และกรณี ตัวอย่างการทำงานร่วมกับอุตสาหกรรม โดย อ.ทัศพันธุ์ สุวรรณทัต สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ของสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ได้นำเสนอรายละเอียดโดยสังเขปของ งานวิจัยการพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมป้อนชิ้นงานเข้าเครื่องปั๊มอุตสาหกรรม เครื่องตรวจสอบคุณภาพพวงมาลัยแบบอัตโนมัติ เครื่องมาร์กสายเบรคแบบอัตโนมัติ รถขนส่งอัตโนมัติแบบราง ไลน์ผลิตฝาหน้าเครื่องซักผ้าด้วยหุ่นยนต์อุตสาหกรรม รถขนส่งวัสดุอัตโนมัติในโรงงาน ซึ่งองค์ความรู้ทั้งหมดนี้จะถูกรวบรวม และเผยแพร่ที่เว็บไซต์ https://knowledgestock.org/ อนึ่ง ในการนำเสนอผลงานเทคโนโลยีที่พร้อมใช้ในการพัฒนาพื้นที่ และนวัตกรรมที่พร้อมถ่ายทอดสู่การพัฒนาพื้นที่ ภาคตะวันออก โดย ดร.จักรพงศ์ พงศ์ธไนศวรรย์ (สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ได้ให้มาสรุปและสะท้อนผลการสังเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อจัดทำ Technology Roadmap เพื่อถ่ายทอดสู่พื้นที่ ทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาระดับท้องถิ่นภาคตะวันออก ด้วย