ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ หน่วยโครงการวิจัยการสังเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดสู่พื้นที่ทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาระดับท้องถิ่น (Knowledge Stock) จับมือคณะวิศวกรรมศาสตร์ จาก 5 มหาวิทยาลัยลงนาม MOU ความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาพื้นที่
โครงการวิจัยการสังเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดสู่พื้นที่ทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาระดับท้องถิ่น (Knowledge Stock) จับมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จาก 5 มหาวิทยาลัย อันประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงบันทึกความร่วมมือระดับมหาวิทยาลัย มุ่งสร้าง “เครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาเชิงพื้นที่”
วันที่ 12 ตุลาคม 2564 ผลจากการเจรจาความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง ผู้บริหารโครงการ “การสังเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดสู่พื้นที่ทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาระดับท้องถิ่น (Technology Roadmap & Knowledge Stock)” โดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย รศ.ดร.พีรยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดย รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รศ.ดร.ธงชัย ฟองสมุทร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดย ผศ.ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย รศ.ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ ซี่งผู้บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของทั้ง 5 มหาวิทยาลัย และผู้บริหารโครงการฯ ได้เล็งเห็นว่าหน่วยงานของตน ต่างมีพันธกิจ เป้าหมาย ความสนใจ และกิจกรรมทางวิชาการที่สอดคล้องตรงกัน จึงได้ตกลงให้มีการทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding-MOU) และจัดให้พิธีลงนามอย่างเป็นทางการ ขึ้น
การลงนาม MOU ครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือทางวิชาการของทั้ง 6 หน่วยงาน อย่างเป็นทางการ ที่ทั้ง 6 หน่วยงาน มีวิสัยทัศน์และจุดร่วมที่ตรงกัน คือ ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยเฉพาะการจัดทำ Knowledge Stock (คลังความรู้) รวบรวมทรัพยากรทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งที่มีอยู่และกำลังดำเนินการ ทำเป็นระบบบัญชีข้อมูล (Data Catalog) ของแต่ละภูมิภาค เพื่อจัดทำหลักสูตรและการถ่ายทอดองค์ความรู้ (Knowledge and Technology Transfer) ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในการเสริมและพัฒนาทักษะ เพิ่มความสามารถ ให้บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพื่อจัดทำแผนพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology Roadmap) นำมาวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่โดยใช้ชุดข้อมูลความรู้ที่มีอยู่ทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาระดับท้องถิ่น นำไปสู่การลงทุนในพื้นที่ โดย “คลังความรู้” ที่เกิดขึ้นนี้ ล้วนแต่เกิดจากกิจกรรมที่ทั้ง 6 หน่วยงาน ได้ร่วมกันทำงาน และมีเป้าหมายสูงสุด คือการนำความรู้มุ่งสู่การสร้างประโยชน์ให้แก่พลเมือง ชุมชนท้องถิ่น และสังคมโลก อนึ่งเป้าหมายการลงนาม MOU ครั้งนี้ ทั้ง 6 หน่วยงาน มุ่งหวังผลที่ปฏิบัติได้และเกิดการสร้างคุณค่าใหม่เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ขึ้นจริง
สำหรับบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ถือเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโครงการวิจัยการสังเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดสู่พื้นที่ทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาระดับท้องถิ่น (Knowledge Stock) ในการสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาพื้นที่โดยภาคีเครือข่าย โดยทั้ง 6 หน่วยงาน ต่างมีความยินดีที่จะร่วมมือกันขับเคลื่อนความร่วมมือต่าง ๆให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันต่อไป อนึ่ง ภายหลังจากลงนามใน MOU แล้ว ทั้ง 6 หน่วยงาน จะร่วมกันดำเนินกิจกรรมความร่วมมือทันที อาทิ การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ และออกแบบนโยบายสาธารณะ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น สอวช. และ สกสว. การจัดทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อ Identify การรวบรวมข้อมูล การจัดทำเทมเพลต (Template) ในการสำรวจข้อมูลเพื่อรวบรวมและจัดทำเป็น Knowledge Stock (คลังความรู้) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย ดำเนินการสำรวจองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึง รวมถึงทุนมนุษย์ที่มีทักษะในการพัฒนาเมืองหรือพัฒนาพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค รวมถึง Key Curriculum ที่มีความประสงค์จะถ่ายทอดสู่ท้องถิ่น โดยแยกออกเป็น 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ร่วมกัน
ด้าน รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้บริหารโครงการฯ และในฐานะผอ.ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วปท.มข. ได้กล่าวขอบคุณคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย ที่พร้อมแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยคือ โครงสร้างพื้นฐานความรู้ที่สำคัญในการพัฒนานวัตกรรมในการพัฒนาพื้นที่ และเชื่อมั่นในพลังทวีคูณที่เกิดขึ้น จากการประสานความร่วมมือกัน บนความไว้วางใจซึ่งกันและกัน