ครั้งแรก!!! ของโครงการ “การติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” จัดการประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการฯ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จากผู้ที่ได้นำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาบุคลากร จำนวนทั้งสิ้นถึง 3,886 คน เข้าร่วมการประชุมทางไกล VDO Conference อย่างพร้อมเพรียง OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรม 

ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของโครงการ “การติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” มุ่งสร้างความตระหนักและความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกันต่อแนวทางการติดตามความก้าวหน้าและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ได้จัดการประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการฯ ในรูปแบบประชุมทางไกล VDO Conference ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จากผู้ที่ได้นำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาบุคลากร จำนวนทั้งสิ้นถึง 3,886 คน

วันพฤหัสบดี ที่ 29 กรกฎาคม 2564 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เป็นหัวหน้าโครงการ “การติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) จัดการประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการการติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ต่อผู้ที่ได้นำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาบุคลากร ซึ่งประกอบด้วย คณะผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1,500 แห่ง  สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวน 180 แห่ง สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 85 แห่ง สังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 22 แห่ง  ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 30 แห่ง และผู้กำกับดูแลหลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม  กองทัพบก  กองทัพเรือ  กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ผู้กำกับดูแลหลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช./บุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจสังกัดหน่วยงานภาครัฐระดับกระทรวง/กรม หน่วยงานในสังกัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี และสังกัดหน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจ จำนวน 69 หน่วยงาน  รวมทั้งบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,000 คน  ขึ้น ในรูปแบบประชุมทางไกล VDO Conference ผ่านแอปพลิเคชัน ZOOM และถ่ายทอดผ่านเว็บไซต์ Facebook โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการประเมิน กรอบแนวคิดและเครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน กลุ่มตัวอย่างและวิธีได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการประเมิน การใช้งานระบบการประเมินในการเก็บข้อมูลและประมวลผลข้อมูล

          ในส่วนของพิธีเปิดนั้น  รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามของที่ปรึกษาที่ได้รับมอบหน้าที่จาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในการขับเคลื่อนโครงการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ได้ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม จากนั้น ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและ นายภาสกร เหมกรณ์ ปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษาด้านพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้เกียรติมอบนโยบายสนับสนุนในเชิงการขับเคลื่อนและกำกับติดตามหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ก่อนที่ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นายอุทิศ บัวศรี จะกล่าวเปิดการประชุมและกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง หลักสูตรต้านทุจริตศึกษากับการขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็น “สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต” 

          สำหรับการชี้แจงแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ซึ่งประกอบด้วย กรอบในการประเมินและเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลสัมฤทธิ์หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา  กลุ่มเป้าหมายในการประเมินผลสัมฤทธิ์หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา กำหนดการในการประเมินผลสัมฤทธิ์หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา การใช้งานระบบ Thai Youth Integrity เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจเบื้องต้นว่าด้วยระบบ Thai Youth Integrity (https://tyintegrity.org/public/home?) องค์ประกอบสำคัญและโครงสร้างการใช้งานของระบบ Thai Youth Integrity วิธีใช้งานระบบ Thai Youth Integrity การเข้าระบบ การประเมิน การบันทึก การวิเคราะห์ผล และการออกรายงาน ฯลฯ และปิดท้ายด้วย บทบาทของสถาบันการศึกษา บทบาทของผู้บริหาร บทบาทของผู้ประสานงานในการประเมินผ่านระบบ TYintegrity นั้น รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ หัวหน้าโครงการฯ และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยนักวิจัยหลากหลายสาขา อาทิเช่น ด้านออกแบบและพัฒนาระบบประเมินพฤติกรรมเด็ก อ.ดร.วชิราวุธ ธรรมวิเศษ  ด้านจิตวิทยาสังคมปฎิสัมพันธ์มนุษย์กับ-คอมพิวเตอร์การจัดการสาธารณะ โดย อ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ด้านวิจัยการศึกษาวัดและประเมินผล โดย รศ.ดร.สุพรรณี อึ้งปัญสัตวงศ์  รศ.วิลาวรรณ พันธุ์พฤกษ์  ผศ.ดร.จตุภูมิ เขตจัตุรัส ด้าน Brain Mind Learning พฤติกรรมศาสตร์ โดย ผศ.ดร.พัชรินทร์ พูลทวี ด้านสังคมศาสตร์ สถิติ รัฐประศาสนศาสตร์ โดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ และด้านการจัดการโครงการวิศวกรรมศาสตร์ โดย อาจารย์ณรงค์เดช มหาศิริกุล ได้ร่วมกันชี้แจง ตอบข้อคำถาม พร้อมเน้นย้ำเป้าหมายหลักของการจัดงานในครั้งนี้ ที่มีขึ้น คือเพื่อมุ่งสร้างความตระหนักและความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันต่อแนวทางการติดตามความก้าวหน้าและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ซึ่งเป็นหลักสูตรที่คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ โดยมีมติให้กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สะท้อนให้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาที่หน่วยงานต่าง ๆ นำไปปรับใช้ มีผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด ปัญหาอุปสรรค รวมถึงข้อเสนอแนะในการปรับปรุงหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาขึ้นได้อย่างแท้จริง

ด้าน รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ตำแหน่งอาจารย์ประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ปรึกษาดำเนินการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา  และในฐานะผอ.ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วปท.มข. ยังได้กล่าวขอบคุณสถานที่ คือ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น (วปท.) อันมีใจความโดยสังเขปดังนี้ “วปท. ทำให้ได้เห็นว่า การจัดการพื้นที่ให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย ปรับเปลี่ยนได้หลายรูปแบบ จำเป็นยิ่งกว่าสิ่งใด โดยเฉพาะโลกใบใหม่ ที่ถูกสั่นไหวโดย digital disruption ที่มีตัวกระขากการเปลี่ยนแปลง คือ COVID-19  แต่ที่เหนือกว่าโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นกายภาพ  คือ โครงสร้างเครือข่าย ICT เพราะคนวันนี้อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ internet แรง ไม่ตก ช่องทางสะดวกที่คนเรือนแสนก็เข้าถึงได้โดยไม่ติดขัด” พร้อมกล่าวขอบคุณทีมงาน ทีมสื่อ โสตจากสำนักนวัตกรรม และ วปท. ขอบคุณทีมงาน ที่พร้อมจะเรียนรู้และลงมือทำ จาก U2T-27 team

คลิปวิดีโอย้อนหลัง กิจกรรมการประชุมชี้แจงแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา 29 ก.ค. 2564 (ภาคเช้า)

YouTube player


คลิปวิดีโอย้อนหลัง กิจกรรมการประชุมชี้แจงแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา 29 ก.ค. 2564 (ภาคบ่าย)

YouTube player