OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ  STEEPI model กับการทบทวน และพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จ.ขอนแก่น

ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ STEEPI model กับการทบทวน และพัฒนายุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จ.ขอนแก่น จัดโดยจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับทุกภาคส่วน ท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาสังคม


“กระบวนการมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ประเด็นการพัฒนา ตัวชี้วัด และโครงการสำคัญด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และด้านการเป็นเมืองแห่งการประชุมสัมมนา (MICE City)” เป็น “หัวใจสําคัญ” ที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนา Smart City และ MICE City และด้วย จังหวัดขอนแก่น เป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีการบรรจุแผน SmartCity และ Mice city เข้าในยุทธศาสตร์จังหวัด ดังนั้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 จังหวัดขอนแก่น จึงได้มอบหมายให้ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มข. และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยทีมคณาจารย์ ซึ่งประกอบด้วย อ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ และในฐานะนักวิจัยศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น อ.สุริยานนท์ พลสิม และอ. ณรงค์เดช มหาศิริกุล รับหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City)และด้านการเป็นเมืองแห่งการประชุมสัมมนา (MICE City) ณ โรงแรม เดอะชีวิน โฮเทล แอนคอนเวนชั่น อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น

โดยสาระสำคัญในการขับเคลื่อนจังหวัดด้วยพลเมืองที่ตื่นรู้ และมีส่วนสำคัญในการผลักดัน จ.ขอนแก่น เคลื่อนไปข้างหน้านี้ ทีมวิทยากรกระบวนการ ได้นำพาผู้เข้าร่วมกิจกรรม อันประกอบด้วย หัวหน้างานจังหวัดขอนแก่น และหัวหน้าหน่วยงานราชการ จำนวน 45 คน จากทั้ง 9 อำเภอนำร่องเมืองใหม่ คือ อ.น้ำพอง อ.บ้านไผ่ อ.ชนบท อ.ชุมแพ อ.ภูเวียง อ.เวียงเก่า อ.พล อ.เขาสวนกวาง และ อ.อุบลรัตน์ มาร่วมกันทำความเข้าใจกับ STEEPI Analysis ในบริบทของพื้นที่ของผู้เข้าร่วม ระดมสมอง แลกเปลี่ยน สะท้อนความท้าทายที่ต้องเอาชนะ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ และร่วมกันกำหนดทิศทางในการพัฒนาของเมือง ทั้งในแง่สังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจของเมือง การเมืองและการบริหารเมือง และโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ก่อนจะนำไปสู่การป้อนกลับข้อมูล เพื่อเชื่อมโยงสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการทำแผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่นต่อไป

อนึ่ง ทีมวิทยากรยังได้กล่าวขอบคุณ นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ที่ให้ทีมได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ และนำข้อมูลสำคัญไปประกอบในการจัดทำแผนงาน/โครงการฯ เพื่อพัฒนาจังหวัด ที่เชื่อมโยงสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ