ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ การจัดประชุมชี้แจงแนวทางการจัดเก็บข้อมูลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ของสำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และ ระบบ BANGKOKITA
สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 50 เขต มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการปกครอง การทะเบียน การจัดทำแผนพัฒนาเขต การสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การส่งเสริมอาชีพ การส่งเสริมการลงทุน การท่องเที่ยว และอื่น ๆอีกมากมายในการบริหารและจัดการกิจการสาธารณะให้กับประชาชนทั้งที่อยู่ในระบบทะเบียน รวมถึงประชาชนแฝงที่มีมากกว่าเท่าตัว ที่มีการเคลื่อนย้ายเข้าสู่เมืองหลวงของประเทศไทย ส่งผลให้สำนักงานเขตหลายแห่งมีจำนวนประชากร ที่ต้องดูแลรับผิดชอบมากกว่าหลายจังหวัดของประเทศไทย มีความหลากหลายทั้งในเชิงของพื้นที่ เศรษฐกิจ และสังคมแตกต่างกัน สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร จึงเปรียบเสมือนกลไกหลักในการขับเคลื่อน และการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เคลื่อนสู่ มหานครแห่งเอเชีย มหานครแห่งความโปร่งใส
ด้วยความสำคัญดังกล่าว ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร จึงได้ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ให้มีการประเมินคุณธรรมความโปร่งใส ในการดำเนินงานของสำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต และได้มอบหมายให้ รศ.ดร.ศุภวัฒนกร วงศ์ธนวสุ และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาต่อเป็นปีที่ 2 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา
เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันทั้ง 4 ฝ่าย คือ กทม. สำนักงาน ป.ป.ช. ผู้บริหารและบุคลากรจาก 50 เขต และคณะที่ปรึกษาวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.00 – 12.00 น. จึงได้มีการจัดประชุมชี้แจงแนวทางการจัดเก็บข้อมูลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร โดยมี ผู้อำนวยการสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ITA นายสมชัย ถิระวันธุ์ กล่าวรายงาน ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายมนต์ชัย วสุวัต กล่าวต้อนรับ พร้อมชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสำนักงานเขต ต่อด้วย นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ที่ได้มอบนโยบายให้กับสำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต ว่า “กรุงเทพมหานคร พร้อมสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับ สำนักงาน ป.ป.ช.และคณะที่ปรึกษาอย่างเต็มที่ “เพราะ เราอยากเห็น กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองแห่งความโปร่งใส”
ก่อนที่ นางสาวชนิดา อาคมวัฒนะ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบและวิชาการ สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงาน ป.ป.ช. ได้นำเสนอต่อที่ประชุมเกี่ยวกับ กรอบในการประเมินและประเด็นคำถามตามแบบสำรวจ จากนั้น รศ.ดร.ศุภวัฒนกร วงศ์ธนวสุ ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วม ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอก และความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า “Open Data” หรือการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ที่มีฐานคิดอยู่ที่การคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน คือสิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ในฐานะที่ประชาชน คือผู้เสียภาษีให้กับรัฐ รวมถึงประสิทธิผลเชิงการจัดการของหน่วยงาน ทั้งการลดต้นทุนทางการบริหาร การปฏิรูปการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ และเสริมสร้างความโปร่งใส ก่อนที่จะก้าวต่อไป คือ Open Data เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุน หากทำสิ่งเหล่านี้ได้ จะทำให้เกิดความโปร่งใสและโปร่งแสง ไปพร้อม ๆกัน
การประเมินในครั้งนี้คณะที่ปรึกษาได้ใช้ระบบที่เรียกว่า BANGKOKITA ที่คณะที่ปรึกษาพัฒนาขึ้น ร่วมกับสำนักงานป.ป.ช. ตั้งแต่ปี 2563 และในปีนี้ได้ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดอีกครั้งหนึ่งให้สามารถตอบสนองต่อผู้ใช้ระบบได้ดียิ่งขึ้น ผู้ที่นำเสนอรายละเอียดของระบบ คือ อ.ดร.วชิราวุธ ธรรมวิเศษ ปิดท้ายด้วยบทเรียนและโอกาสในการพัฒนา สะท้อนจากผลการประเมิน 2563 จาก อ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ รวมถึงตอบข้อซักถามจากผู้เข้าร่วมประชุม
ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการนี้ได้ที่ https://bangkokita.com/