OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วของประเทศ U2T-27team เดินหน้าลงพื้นที่สร้างวิสัยทัศน์ร่วม เพื่อให้เกิดการบูรณาการโครงการในพื้นอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง

ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ หน่วยโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วของประเทศ U2T-27team  เดินหน้าลงพื้นที่สร้างวิสัยทัศน์ร่วมของกลไกความร่วมมือในพื้นที่ 4 ตำบล จังหวัดอุดรธานี หวังชี้เป้าการพัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพใหม่ในชุมชน การจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน และชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

          การให้ความสำคัญกับการหันกลับมามองฐานของชุมชนที่มีอยู่ สามารถบอกความต้องการที่แท้จริงของชุมชนตนเองได้ และด้วยความสำคัญดังกล่าวเพื่อให้เกิดการมองเห็นเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน และความคาดหวังต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงของแต่ละพื้นที่ ตามเป้าประสงค์ของโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ ในวันนี้ (วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564) โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วของประเทศ U2T-27team โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น หน่วยงานบูรณาการโครงการ ในระดับตำบล ซึ่งนำโดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ จากวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นหลายสาขาวิชาในทีม (U2T-27team) อันประกอบด้วย ผศ.ดร.สมชาย สุริยะไกร จาก คณะเภสัชศาสตร์ อ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ จาก วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น และในฐานะนักวิจัยศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น   อ.สมหมาย แก้ววิเศษ นายกิจพิพัฒน์ ขุ่มด้วง นายเรืองระวี จันทนาม อ.ณรงค์เดช มหาศิริกุล ผู้ประสานงานโครงการ จึงได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุงทับม้า ซึ่งถือเป็นกลไกหลักในการพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล ร่วมกำหนดเป้าหมาย กระบวนการทำงานร่วมกัน และร่วมสร้างผู้นำประโยชน์สุขที่เปรียบเสมือน “ข้อต่อ”สำคัญในการเชื่อมภายในและภายนอก เพื่อที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ต่อไป ณ ห้องประชุม อบต.หนองกุงทับม้า จ.อุดรธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพบปะพูดคุย สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกับผู้เข้าร่วมโครงการ อันได้แก่ บัณฑิตจบใหม่ และประชาชนทั่วไป จำนวน 80 คน ที่ได้รับการจ้างงานใน 4 ตำบล ของพื้นที่จังหวัดอุดรธานี อันประกอบด้วย ต.หนองกุงทับม้า ต.เชียวแหว ต.หนองไฮ และ ต.ผาสุก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน อาทิ การพัฒนาสินค้าชุมชน การพัฒนาการตลาดและสิ่งอำนวยความสะดวก การส่งเสริมและพัฒนาฝีมือคนในชุมชน (เสื่อ เบาะรองนั่ง พรมเช็ดเท้า ไม้กวาด เป็นต้น) และการส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นตนเอง

           ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อย โดยแยกตามตำบลในพื้นที่  ในการกำหนดแนวทางประสานงานและทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนรายตำบล (Community Big Data) เพื่อให้ได้ข้อมูลมาทำการวิเคราะห์และตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาความยากจน แบบมีเป้าหมายชัดเจน อีกทั้งบรรลุเป้าประสงค์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการจัดทำนโยบายและกลยุทธ์ในการลดปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมาย และยังมีกระบวนปลูกฝังความเป็นผู้ประกอบการที่ต้องรู้จักการกำหนดเป้าหมาย มีความมุ่งมั่น มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถสร้างแรงผลักภายในตนเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายต่อไป

          โดยในตอนท้ายของกิจกรรมการสร้างวิสัยทัศน์ร่วม เพื่อให้เกิดการบูรณาการโครงการในพื้นอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง คือ “การแสวงหาเป้าหมายขั้นสูงสุดของการพัฒนาในระดับพื้นที่ร่วมกันของภาคีเครือข่าย ประชาสังคมหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการพัฒนาในพื้นที่เพื่อให้ได้เป้าหมายที่ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางพัฒนาบ้านเกิดของตนเองได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเป็นการประกบกันขององค์ความรู้และนวัตกรรมต่าง ๆที่มหาวิทยาลัยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชนที่นำความรู้ นวัตกรรม สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว ที่มีปัจจัยนำเข้าที่สำคัญคือทุนชุมชนอันจะนำไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ต่อไป” รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ยังได้กล่าวขอบคุณ นายบุญช่วย มุ่งเคน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุงทับม้า ที่ได้ให้การสนับสนุน พร้อมร่วมขับเคลื่อนการบูรณาการโครงการฯ ระหว่างตำบลในพื้นที่ ทั้งด้านการใช้ทรัพยากรโครงการฯร่วมกัน การแบ่งปันองค์ความรู้และเทคโนโลยีร่วมกัน รวมถึงการเชื่อมต่อกันเกี่ยวกับของดี หรือสินค้า ระหว่างพื้นที่ ซึ่งถือเป็นโอกาสของของทุกคน ที่จะได้ทั้งความรู้จากทุกสาขาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งเงินเดือน ทำงาน สร้างงานอยู่บ้านของตนเอง  และเป็นความโชคดีของตำบลหนองกุงทับม้าด้วย ที่ได้มหาวิทยาลัยมาร่วมพัฒนา