ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วของประเทศ สร้างวิสัยทัศน์ร่วมของกลไกความร่วมมือในพื้นที่ตำบลท่านางแนว
กลไกความร่วมมือ (Mechanism) ที่เป็นพื้นที่การทำงานร่วมกันของทุกภาคีการพัฒนา ทั้งภาควิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม (ระดับตำบล) เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่จะต้องทำให้เกิดความเข้มแข็งในระดับพื้นที่ที่สามารถบูรณาการงานของแต่ละหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด การที่จะทำให้เกิดกลไกความร่วมมือเชิงพื้นที่ได้นั้น จำเป็นที่จะต้องทำให้ทุกภาคีเครือข่ายมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน มองเห็นเป้าหมายเดียวกัน อันได้แก่ การแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ นำสู่ความยั่งยืนของการพัฒนา
ดังนั้น วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 อบต.ท่านางแนว นำโดยนายกจวง เหชัยภูมิ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่านางแนวได้ร่วมกับเครือข่ายในการสานเสวนาเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วของประเทศ อันประกอบด้วย คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นหลายสาขาวิชาในทีม (27 Team) ผศ.ดร.สมชาย สุริยะไกร จากคณะเภสัชศาสตร์ ดร.วรพนธ์ จันทรธีระยานนท์ ภาคเอกชน อ.กิตติพิชญ์ ชัยมนตรีธนสิน อ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ อ.สมหมาย แก้ววิเศษ อ.ณรงค์เดช มหาศิริกุล ผู้ประสานงานโครงการ และรศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้รับผิดชอบโครงการ และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งคณาจารย์ จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น อ.วาสนา สงฆ์นาม อ.ปัทมนันทน์ พรหมแสง
อ.พัชรี ชนะเทพ และ อ.จันทนา ทองวิเศษ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 18 กลุ่ม สมาชิกกลุ่ม Smart Farmer กว่า 129 คน ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งผู้ที่เข้าร่วมโครงการ U2T จำนวน 40 คน จากตำบลท่านางแนว และตำบลก้านเหลือง อำเภอแวงน้อย จ.ขอนแก่น ภาคีเครือข่ายดังกล่าวร่วมกันกำหนดเป้าหมายร่วมนำเสนอข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความท้าทายของตำบลท่านางแนว อาทิเช่น เป็นแหล่งผลิตน้ำอ้อยคั้นสด ที่คั้นน้ำจากอ้อยพันธุ์เฉพาะปลูกแบบอินทรีย์ การพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านเกษตรกรรมที่แบบ Smart farming รวมทั้งการให้ข้อเสนอแนะ และสร้างแรงบันดาลใจจากภาคีเครือข่าย 27 team
แม้จะเป็นวันแรกของการทำงานร่วมกัน แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการว่า “ในความคิดส่วนตัวของหนูหรือสิ่งที่หนูอยากพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์น้ำอ้อยนี้ หลังจากที่ได้ลองชิมน้ำอ้อย” ก็คือ การออกแบบ Packaging ให้น่าสนใจค่ะ เราควรคิดไอเดียว่า การที่เรามีทุนหรือทรัพยากรน้อย เราจะสร้างสรรค์มันยังไงให้ออกมาดูดี “เก๋” ต้นทุนน้อยที่สุด อาจจะเป็นการระดมความคิดกัน หรือ ถ้าอยากได้ความคิดที่กว้างขึ้นหนูเสนอการนำหัวข้อการออกแบบขวดน้ำอ้อย ต.ท่านางแนวหรืออาจจะเป็น Logo นี้ไปเป็นการบ้านให้เด็กที่โรงเรียนออกแบบในวิชาศิลปะและนำมาประกอบการตัดสินใจในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ถึงแม้ว่า ผลมันอาจจะออกมาไม่ค่อยดีหรืออาจจะดีมากแต่มันจะทำให้เรามองเห็นอะไรได้กว้างมากขึ้นค่ะ นอกจากเราจะได้ไอเดียแล้ว เด็ก ๆ ยังได้ฝึกการออกแบบดีไซน์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วยค่ะเป็นการพัฒนาเด็กที่ดีค่ะ”