OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของทีมที่ปรึกษาลงพื้นที่สังเกตสถานการณ์จริงของกระบวนการประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต ผ่านเครื่องมือดิจิทัลในยุคโควิด 19

มากกว่าการลงพื้นที่สังเกตสถานการณ์จริงของกระบวนการประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต ผ่านเครื่องมือดิจิทัลในยุคโควิด 19 ทีมที่ปรึกษาTYIntegrityProject  ได้เห็น “มิติทางสังคม” ที่เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมกัน สอดส่องดูแลพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมกิจกรรม

การเปลี่ยนแปลงของสังคมและของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีความซับซ้อนมากขึ้น เป็นผลมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ ระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจ อุตสาหกรรม และสังคม ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ความรู้ เทคโนโลยี และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน รวมถึงเด็ก – เยาวชนอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นสังคมปัจจุบันยังอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่จะต้องเลี่ยงการรวมกันของคนหมู่มาก ทำให้ระบบการเรียนรู้แบบในอดีต จะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้อยู่รอด และก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

          และด้วยระบบประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต ในโครงการวิจัยประเมินผลพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต และ การประเมินผลสัมฤทธิ์ในการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา เป็นระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือ TYIntegrityProject ดังนั้น ทีมที่ปรึกษาดำเนินโครงการประเมินพฤติกรรมเด็กและ เยาวชนไทยที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องลงพื้นที่สังเกตสถานการณ์ “กระบวนการประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต ผ่านเครื่องมือดิจิทัลในยุคโควิด 19 ของโครงการวิจัยประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริตและการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” ว่าระบบ Thai Youth Integrity เพื่อประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและประเมินผลสัมฤทธิ์ในการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ท้าทายในปัจจุบันอย่างไร  และหากกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ขาดพื้นฐานความรู้ความเข้าใจ ด้านการใช้ระบบดิจิทัลที่ไม่เท่าทัน ทีมที่ปรึกษาจะมีวิธีการจัดการอย่างไรต่อไป

          โดยในวันที่ 18 มกราคม 2564 ฝ่ายพัฒนาเครื่องมือของทีม นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จตุภูมิ เขตจัตุรัส และทีมผู้ช่วยนักวิจัย ได้ดำเนินการลงพื้นที่ โรงเรียนบ้านบะแค ตำบลแวงใหญ่ อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น เพื่อสังเกตสถานการณ์จริง ในการใช้ระบบในการดำเนินการตามโครงการฯ ซึ่งเป็นการประเมินรอบด้าน 360 องศา คือ ประเมินทั้งตนเอง ครูผู้สอน เพื่อน และผู้ปกครอง อนึ่ง  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จตุภูมิ เขตจัตุรัส ยังได้เป็นตัวแทนของโครงการฯ กล่าวขอบคุณผู้อำนวยการโรงเรียน ด้วย อันมีใจความสังเขปดังนี้ “ขอบพระคุณท่าน ผอ.ฐณวัฒน์ ฉัตรวุฒิรัศมิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบะแค สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ที่ให้ความกรุณาเปิดพื้นที่โรงเรียนสำหรับการถ่ายทำสกู๊ปพิเศษ กระบวนการประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต ผ่านเครื่องมือดิจิทัลในยุคโควิด19 ของโครงการวิจัยประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริตและการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา นับว่าเป็น “มิติทางสังคม” ที่เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันสอดส่องดูแลพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทางนักวิจัยต้องขอกราบขอบพระคุณผู้บริหาร คณะครู ผู้ปกครอง นักเรียน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ”