OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ บทบาทของสถานศึกษากับการพัฒนาพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทย

ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ บทบาทของสถานศึกษากับการพัฒนาพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทย ตอบโจทย์เป้าหมายที่กำหนดในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตให้เกิดขึ้นในสังคมไทย กับกิจกรรมการประชุมเพื่อชี้แจงบทบาทของสถานศึกษาในการประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต โดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช.

การประชุมเพื่อชี้แจงบทบาทของสถานศึกษาในการประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต โดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อวันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา เป็นการประชุมผ่านการถ่ายทอดสัญญาณ VDO Conference โดยแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1 เวลา 10.20 – 12.00 น. และกลุ่มที่ 2 เวลา 12.50 – 14.30 น. ด้วยโปรแกรม ZOOM ไปยังโรงเรียน 3,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ ถ่ายทอดจากศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้คัดเลือกมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินโครงการวิจัยประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต โดยมี ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมและเน้นย้ำถึงพันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น ด้วยการขับเคลื่อนงานหลักตามโครงการประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต และแสดงความเชื่อมั่นว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูป และขับเคลื่อนความเจริญให้กับประเทศได้ และการจะพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงประเทศในด้านใดด้านหนึ่งให้สำเร็จได้ ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและมองมาที่จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงประเทศ นั่นคือ ระบบการศึกษา เช่นเดียวกับการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมไทย ซึ่งต้องอาศัยการสั่งสมแบบแผนและค่านิยมร่วมกันระหว่างคนในสังคมจากรุ่นสู่รุ่น ย่อมต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้และกล่อมเกลาทางสังคมที่ปลูกฝังและเกิดขึ้นได้ผ่านระบบการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนที่ผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมตามหลักสูตรต้านทุจริตที่จัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ได้เติบโตและกลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ตระหนักรู้ต่อความเสียหาย ละอายและไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบในอนาคต 

จากนั้นรองเลขาธิการ สำนักงาน ปปช. ท่านอุทิศ บัวศรี เป็นประธานกล่าวเปิดและปาฐกถาพิเศษถึง จุดเน้นสำคัญในการยกระดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชัน(Corruption Perception Index: CPI) ตามแผนแม่บทประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยเทียบเคียงกับแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศญี่ปุ่นมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย ซึ่งการจะยกระดับได้นั้น จำเป็นที่จะต้องปรับฐานคิดของเด็กและเยาวชน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบการกล่อมเกลาทางสังคมผ่านการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานคิดหลักในการต้านทุจริต รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างบูรณการ

             ด้าน รศ.ดร.ศุภวัฒนากร  วงศ์ธนวสุ นักวิจัยประจำศูนย์ และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวชี้แจงแนวทางการวิจัยต่อผู้เข้าร่วมประชุมว่า เป้าหมายสำคัญของการวิจัยครั้งนี้เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายที่กำหนดในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ถือเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 เน้นการปรับฐานคิดของเด็กและเยาวชน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบหรือกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม ผ่านการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานคิดในการต้านทุจริต รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ นำมาสู่การพัฒนาชุดการเรียนรู้ด้านการป้องกันการทุจริต สำหรับนำไปใช้เป็นมาตรฐานกลางในการจัดการเรียนในระบบการศึกษาของประเทศไทยตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงอุดมศึกษา โดยในระยะแรก เด็กและเยาวชนไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 มีพฤติกรรมที่ยึดมั่นต่อความซื่อสัตย์สุจริต และเพื่อที่จะได้รู้ว่าตัวชี้วัดนี้มีความครบครัน ตรงไหน อย่างไร หลักสูตรที่สถานศึกษานำไปใช้มีผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด มีปัญหา อุปสรรค หรือข้อเสนอแนะใด จึงต้องมีการประเมิน โดยมีนักวิจัยหลากหลายสาขาร่วมกันตอบโจทย์ อาทิเช่น ด้านสังคมศาสตร์ สถิติ รัฐประศาสนศาสตร์ โดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ด้านแผนและพัฒนานโยบายศาสตร์ โดย รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม อาจารย์สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย อาจารย์สุริยานนท์ พลสิม ด้านออกแบบและพัฒนาระบบประเมินพฤติกรรมเด็ก โดย ผศ.ดร.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒน อ.ดร.วชิราวุธ ธรรมวิเศษ อ.ดร.สายัญ สายยศ ด้านจิตวิทยาสังคมปฎิสัมพันธ์มนุษย์กับ-คอมพิวเตอร์การจัดการสาธารณะ โดย อ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ด้านวิจัยการศึกษาวัดและประเมินผล โดย ผศ.ดร.จตุภูมิ เขตจัตุรัส ด้าน Brain Mind Learning พฤติกรรมศาสตร์ โดย ผศ.ดร.พัชรินทร์ พูลทวี ผศ.ดร.วรากร ทรัพย์วิระปกรณ์ และด้านการจัดการโครงการวิศวกรรมศาสตร์ โดย อาจารย์ณรงค์เดช มหาศิริกุล 

การดำเนินโครงการวิจัยประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริตและการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาครั้งนี้ มีเป้าหมายที่สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สถานศึกษาในสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมทุกระดับ 3,220 แห่งทั่วประเทศ มีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ผู้สอน ผู้บริหาร และผู้ปกครอง รวมกลุ่มเป้าหมายเกือบ 2 แสนคน กระจายทั่วประเทศ 77 จังหวัด การวิจัยประเมินภายใต้โครงการวิจัยนี้ได้ดำเนินผ่านระบบ Digital platform ที่มีชื่อว่า tyintegrity และประมวลผลด้วย Machine Learning 

นับเป็นจุดเริ่มต้น ความท้าทาย และโอกาสในการพัฒนาคุณภาพคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนร่วมกันกับสถานศึกษา โดยการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงที่ดีของผู้บริหาร ครูอาจารย์  ผู้ปกครอง เขตพื้นที่การศึกษา มหาวิทยาลัย และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างสังคมที่ดีร่วมกันในอนาคต