OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ ผอ.ฝ่าย 3 บพท.ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการการพัฒนาข้อเสนอแผนการพัฒนาสกลนครสู่เมืองน่าอยู่ เดินหน้ากิจกรรม มุ่งเป้าพัฒนาเมือง ท้องถิ่น และกลไกเติบโตใหม่

ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนิน “โครงการการพัฒนาข้อเสนอแผนการพัฒนาสกลนครสู่เมืองน่าอยู่” ในกิจกรรม “การถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาศักยภาพในการแปรรูปผลผลิต จากป่าเศรษฐกิจครอบครัว”

          หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัย ภายใต้ประเด็นวิจัยที่สนับสนุนการพัฒนาเมือง ท้องถิ่น และกลไกเติบโตใหม่ และด้วยในวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 โครงการการพัฒนาข้อเสนอแผนการพัฒนาสกลนครสู่เมืองน่าอยู่ ภายใต้แผนงานการพัฒนาเมืองและกลไกการเติบโตใหม่ โปรแกรม 15 การพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แพลตฟอร์ม 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้กำหนดจัด กิจกรรม “การถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาศักยภาพในการแปรรูปผลผลิต จากป่าเศรษฐกิจครอบครัว” ขึ้น ณ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเลิงฮังสามัคคี จำกัด อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ต่อยอดทรัพยากรและผลผลิตที่ได้จากป่า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้กับเจ้าของป่าเศรษฐกิจครอบครัวและขยายไปสู่ชุมชน อนึ่ง ทรัพยากรและผลผลิตที่ได้จากป่าดังกล่าวมาจากพื้นที่เป้าหมาย อันได้แก่ 1) ป่าเศรษฐกิจ ครอบครัวอินแปง อำเภอกุดบาก 2) ป่าเศรษฐกิจครอบครัวบะฮี ต้นผึ้ง และบ้านคึม อำเภอพรรณนานิคม 3) ป่าเศรษฐกิจครอบครัวบ้านโคกสะอาด อำเภอกุสุมาลย์ และ 4) ป่าเศรษฐกิจครอบครัวหนองหญ้าฮังกาน้อย (บ้านโคกสี ไค) อำเภอสว่างแดนดิน ซึ่งพื้นที่ป่านำร่องทั้ง 4 แห่งส่วนใหญ่เป็นป่าดั้งเดิมที่มีระบบนิเวศค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้มีผลผลิตตามฤดูกาลที่เกิดจากการดูแลและรักษาป่าเป็นอย่างดี

          และด้วยความสำคัญดังกล่าว รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) บพท. และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และในฐานะนักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ จึงได้มีการลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้า ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเมือง ท้องถิ่น และกลไกเติบโตใหม่ ที่ได้รับอนุมัติจากโปรแกรม 15 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ พร้อมนำทีมผู้เชี่ยวชาญ และทีมสนับสนุนโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองท้องถิ่น และกลไกเติบโตใหม่ (RDC) ลงพื้นที่เรียนรู้ จากการถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาศักยภาพในการแปรรูปผลผลิตจากป่าเศรษฐกิจครอบครัว โดย นายแพทย์สมบูรณ์ จิระวัฒนาสมกุล ประธานกรรมการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสกลนคร (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด หัวหน้าโครงการ และเรียนรู้จากตัวแทนป่าเศรษฐกิจครอบครัว ที่ได้นำเสนอผลผลิตที่ได้จากป่าเศรษฐกิจครอบครัว อันประกอบด้วย ตัวแทนป่าเศรษฐกิจครอบครัวอินแปง (วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอินแปง) ตัวแทนป่าเศรษฐกิจครอบครัวบะฮี ต้นผึ้ง บ้านคึม (วิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาชีพตำบลต้นผึ้ง และ วิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้บ้านคึม) ตัวแทนป่าเศรษฐกิจครอบครัวบ้านโคกสะอาด (วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุ์ข้าวพื้นเมือง หอมดอกฮัง) และ ตัวแทนป่าเศรษฐกิจครอบครัวหนองหน้าฮังกาน้อย (วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพราะเห็ดบ้านโคกสีไค) โดยมีสาระโดยสังเขปดังนี้ “ป่าเศรษฐกิจครอบครัว มีการนำองค์ความรู้เรื่องการอัดใบไม้เป็นภาชนะ โดยมีชาวบ้านรวมกลุ่มกันทำ และที่นี่มีความมุ่งมั่นในการยกระดับตำบล โดยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วม Workshop เพื่อเน้นให้เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัย พร้อมขอบคุณ บพท. ที่ช่วยสนับสนุนทุน และผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาช่วยแนะนำในด้านต่าง ๆ เพื่อที่จะช่วยกันพัฒนาและขับเคลื่อนป่าครอบครัว กฎหมาย ภาษีที่ไม่เอื้อให้คนที่มีป่า และรูปแบบมุมมองการเกษตรที่ไม่ตรงกัน”

          สำหรับโครงการการพัฒนาข้อเสนอแผนการพัฒนาสกลนครสู่เมืองน่าอยู่ โดยการนำของ นายแพทย์สมบูรณ์ จิระวัฒนาสมกุล หัวหน้าโครงการ นั้น ได้มีการผสานความร่วมมือกับ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) หอการค้า สภาอุตสาหกรรม เกษตรจังหวัด สำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัด นายอำเภอจาก นายกเทศมนตรี และกลุ่มเครือข่ายป่าเศรษฐกิจครอบครัว ทั้ง 4 ป่า อันได้แก่ ป่าเศรษฐกิจครอบครัวบ้านโคกสะอาด ป่าเศรษฐกิจครอบครัวหนองหญ้าฮังกาน้อย ป่าเศรษฐกิจครอบครัว บ้านบะฮี บ้านนาล้อม บ้านต้นผึ้งและบ้านครึม และกลุ่มอินแปง

          “ป่าเศรษฐกิจครอบครัว” เป็นระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ทรัพยากรในป่าเศรษฐกิจครอบครัวเป็น ทรัพย์สินส่วนบุคคล การดูแลรักษาเป็นการลงทุนทำการเกษตรเพื่อเก็บผลผลิตจากป่าและเนื้อไม้ สาธารณะให้ ยอมรับ เคารพสิทธิ มีระเบียบประเพณีปฏิบัติที่ตราเป็นข้อบัญญัติตำบลเพื่อการรักษา ใช้ประโยชน์ และฟื้นฟู ทรัพยากรในป่าให้อุดมสมบูรณ์ และร่วมกันรักษา-สืบทอดสิทธิในที่ดิน ทรัพยากรในป่า เพื่อส่งต่อให้ลูกหลานได้ด้วยความรู้ วิธีการจัดการนิเวศป่า ได้เรียนรู้คุณค่า พัฒนาภูมิปัญญาเดิม เชื่อมโยงความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรม ปรับสู่ในโลกสมัยใหม่โดยการพื้นฟูรักษาป่า พื้นคืนความหลากหลาย ทางชีวภาพและระบบนิเวศของสรรพชีวิตทั้งมวล โดยมีการเชื่อมต่อผืนป่าและโยงใยความร่วมมือกับครอบครัวป่าใกล้เคียง มุ่งสร้างเครือข่ายขยายความร่วมมือกับรัฐ เอกชน ประชาชน เสริมแรงให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพลังงานหมุนเวียน จัดการระบบนิเวศน้ำครบวงจร (น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน น้ำฟ้า) สามารถจัดการพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตในธรรมชาติ และการเกษตร นำมาเพิ่มมูลค่า พัฒนาแปรรูปเป็น ผลิตภัณฑ์ สร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจครัวเรือนและชุมชน พัฒนาการตลาดที่หลากหลาย สร้างอาชีพ ให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนทั้งจากเนื้อไม้ สมุนไพร อาหาร พืชพรรณ สัตว์ และแมลง ดำเนินธุรกิจฟื้นฟูระบบนิเวศป่าเศรษฐกิจครอบครัวจากท้องถิ่นสู่สากล บนฐานความรู้เรื่องป่าไม้ พัฒนาการจัดการท่องเที่ยวเพื่อ สุขภาพ เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง เศรษฐกิจครัวเรือนเข้มแข็ง มีอิสระ รักษาป่าให้สมดุล รักษาพันธุกรรมท้องถิ่น เกื้อหนุนระบบนิเวศให้สมบูรณ์ ฟื้นคืนให้สุขภาพป่าดี สุขภาพคนดี (อาหาร อากาศ อารมณ์) สังคมอาทร แบ่งปันต่อคนด้วยกันและสรรพชีวิต ลดโลกร้อน ผลิตก๊าซเรือนกระจกเป็นลบ สร้างความร่มเย็นให้สกลนครและโลกของเรา ปัจจุบันโครงการป่าเศรษฐกิจครอบครัว มีพื้นที่ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอพรรณนานิคม และอำเภอกุดบาก

          ด้าน รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ กล่าวปิดท้ายกิจกรรมด้วยว่า “มาที่นี่กี่ครั้ง ๆ ก็รู้สึกมีความสุข อากาศดี ได้กินของดี เช่น ลูกหม่อน และอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ แถมยังได้ของฝากต่าง ๆ กลับบ้าน ได้อยู่ท่ามกลางมิตรที่กระฉับกระเฉง และตื่นรู้  ป่าเศรษฐกิจสามารถที่จะตีมูลค่าได้อย่างหลากหลาย  การขับเคลื่อนเชิงโครงสร้าง มีป่า มีพื้นที่ แล้วยังต้องเสียภาษีอีก ถือเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับการเปลี่ยนแปลงของโลก”