ศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ เชิญนักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU ทำงานร่วมในการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากให้กับประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย 5 แขวงภาคเหนือของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

การพัฒนานักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เป็นความตั้งใจที่ ศูนย์ฯ มุ่งหาแนวทางสนับสนุน ส่งเสริมให้ อยู่เรื่อยมา โดยเปิดโอกาสให้ไปฝึกอบรม ศึกษาต่อ ไปทำวิจัยร่วม เสนอผลงานทางวิชาการ หรือได้ไปเรียนรู้ศึกษาดูงานในต่างประเทศเพิ่มเติม เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ และช่วยนำกลับมาขับเคลื่อน พร้อมสนับสนุนภารกิจในทุกด้านของศูนย์ฯ ได้อย่างมีประสิทธิผล
โดยในระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 นักวิจัยประจำศูนย์ฯ ประกอบด้วย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ และ ผศ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ได้เดินทางไปเดินทางไปปฏิบัติงานราชการ ต่างประเทศ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อทำงานร่วมกับศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ ในการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากให้กับประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย 5 แขวงภาคเหนือของ สปป.ลาว โดยวัตถุประสงค์ของทำงานร่วมกัน นั้นคือเพื่อร่วมศึกษาข้อมูล ถอดบทเรียน และนำความรู้ทางวิชาการของนักวิจัยประจำศูนย์ฯ ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาให้องค์ความรู้ เพื่อปรับใช้ตามสภาพพื้นที่และบริบทของแต่ละเมือง ของ สปป.ลาว จนนำไปสู่การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินงานร่วมกันตามนโยบายของรัฐบาลแห่ง สปป.ลาว ต่อไป
อนึ่ง รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ยังได้เล่าถึงการปฏิบัติราชการ ในระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ด้วยว่า วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ได้รับการสนับสนุนการสแกนพื้นที่เป้าหมาย 33 จุด เมืองอุดมไซย หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ โดย ประธานที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจพงสะหวัน และมาดาม Sengdow, MD ของ บริษัท ประกันภัยในเครือพงสะหวัน
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ภายหลังจากการลงพื้นที่เป้าหมาย อาทิ บ้านสามกาง เพื่อดูผลงานของกลุ่มสหพันธ์แม่หญิง หัตถกรรมตำผ้าแพร ซึ่งเป็นผ้าฝ้าย(ปลูกที่นี่) ทอมือย้อมสีธรรมชาติที่ถือเป็นสินค้า otop ของเมืองไซ และรับฟังกลุ่มนำเสนอสถานการณ์ โอกาส ความท้าทาย ปัญหาอุปสรรค และความต้องการในการพัฒนา จากนั้นต่อไปที่บ้านย้อ (ชาวลื้อ) เพื่อดูผลงานของกลุ่มทอผ้า เครื่องปั้นดินเผา และหัตถกรรมจักรสาน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อติดตามความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรค ของการดำเนินโครงการที่ ศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ ลงนามความร่วมมือกับธนาคารพงสะหวัน ในการยกระดับการพัฒนาอาชีพ และความเข้มแข็งของกลุ่ม ภายใต้แนวคิด รัฐร่วมเอกชน และทำให้เกิด “Community Fund” เป็นกลไกทางการเงิน พร้อม ๆกับการประกบกับภาควิชาการในการถ่ายทอดความรู้ ในการพัฒนาคน ในทุกระดับของ ศนช. ที่ปัจจุบันกระจายต่อ 33 พื้นที่ ในหลายเมืองของ สปป. ลาว ช่วงเย็นนักวิจัยประจำศุนย์ฯ ยังได้ร่วมฉลองการเปิดตัว HI-app I-Banking ของธนาคารพงสะหวัน โดยกิจกรรมในวันดังกล่าวนั้น ได้มี Mr. Phaiboun Phongsavanh Managing Director and CEO ธนาคารพงสะหวัน ให้เกียรติเป็นประธานเปิด รวมทั้งเป็นผู้ดูแล โครงการเมืองอัจฉริยะ ของ สปป.ลาว ที่ได้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2565 เพื่อเริ่มต้นก่อสร้างโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) แห่งแรกของ สปป.ลาว ที่มีการลงทุนโดยกลุ่มบริษัทพงสะหวัน ในวงเงิน 580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 19,140 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ = 33 บาท ณ วันที่ 14 มกราคม 2565)
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 พื้นที่เป้าหมายในวันดังกล่าว คือ บ้าน ปุ่งเลียน เพื่อดูฟาร์มปศุสัตว์ของกลุ่มพงสะหวัน ที่นี่คณะนักวิจัยได้พบกับเกษตรกรต้นแบบ และตัวแทนกลุ่ม คุณมะนีวัน ที่บอกเล่าถึงปัญหาและความต้องการ รวมถึงความชำนาญที่พร้อมถ่ายทอด
และปิดท้าย วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 คณะนักวิจัยได้เดินทางมายังเวียงจันทน์ เพื่อนำเรียนข้อมูลต่อท่านประธานที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจพงสะหวัน และรองประธานศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ ศ.ดร.อ๊อด พงสะหวัน พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ และทางเลือกในการดำเนินการที่เห็นเป็นรูปธรรม







































































