OPSCD COLA KKU ร่วมเรียนรู้กลไกทางการเงินใหม่สู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของกลุ่ม Young Smart Farmer กับกิจกรรมของ บพท. ซึ่งร่วมมือกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

OPSCD COLA KKU ร่วมเรียนรู้กลไกทางการเงินใหม่สู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของกลุ่ม Young Smart Farmer กับกิจกรรมของ บพท. ซึ่งร่วมมือกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU ลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้กลไกทางการเงินใหม่ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของกลุ่ม Young Smart Farmer ในกิจกรรมของ บพท. ซึ่งร่วมมือกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ด้วยวิสัยทัศน์ของศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU คือ “ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมวิชาการที่เป็นเลิศด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างความยั่งยืนในประเทศไทย และด้วยในวันที่ 17 ธันวาคม 2565 โครงการการสร้างกลไกทางการเงินใหม่เพื่อยกระดับและเพิ่มการกระจายตัวของเศรษฐกิจสีเขียวในระดับพื้นที่ อันมี รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล เป็นหัวหน้าโครงการนั้น ได้มีการจัดอบรมในหัวข้อเรื่อง การฝึกอบรมกลไกทางการเงินใหม่สู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ขึ้น ณ ห้องมงกุฏเพชร โรงแรมโฆษะ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่  จึงได้มีการลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้กลไกทางการเงินใหม่ สู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของกลุ่ม Young Smart Farmer จากกิจกรรมดังกล่าวด้วย

          สำหรับ “การฝึกอบรมกลไกทางการเงินใหม่สู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว” นี้มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาภาวะเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำมากที่สุดของโลกที่มาจากหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจและความยากจนที่ประเทศไทยนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มาจากการดำรงชีวิตของเกษตรกรที่เปลี่ยนไปตามกระสังคมบริโภคนิยม นโยบายการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และนโยบายประชานิยม อย่างไรก็ตามการที่กลุ่ม Young Smart Farmer กลับมาสู่ท้องถิ่นเพื่อทำเกษตรกรรม จึงต้องมีการสร้างกลไกทางการเงินใหม่ ตามที่สถาบันทางการเงินกำหนดและสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้” พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาให้ความรู้ในงานดังกล่าวด้วย

          ด้านคุณจิราลักษณ์ ปรีดี ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนารถ ขอนแก่น ได้ให้การบรรยายในหัวข้อ “การพัฒนาการเกษตรสู่เศรษฐกิจสีเขียว และ BCG Model” ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า BCG Model ได้เป็นสิ่งที่เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ในทุกยุทธศาสตร์จังหวัด โดยเป้าหมายเป็นการมุ่งเน้นการสร้างรายได้และการทำให้มีอาหารคุณภาพสูง ประกอบกับการเป็นแหล่งจ้างงานที่มีรายได้สูงและมีทักษะ และกลายมาเป็นการขับเคลื่อนที่สำคัญ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มองว่า BCG จะต้องอยู่ภายใต้การตลาดนำการเกษตร เน้นการมีประสิทธิภาพสูง หรือการใช้ต้นทุนการผลิตต่ำแต่มีรายได้ที่สูง เช่น GAP ที่เป็นมาตรฐานทางการเกษตร ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจและมาตรฐานสูง ต่อมาคือรายได้สูง โดยที่การมีประสิทธิภาพสูงก็จะมีรายได้สูงตามมา โดยทางคุณจิราลักษณ์ ปรีดี ได้เน้นย้ำ BCG ในแต่ละด้านว่าเศรษฐกิจชีวภาพ เป็นการใช้พันธุ์พืชและสัตว์ จากการศึกษาที่มุ่งเน้นการมีประสิทธิภาพสูงจากพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูง ส่วนเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการนำของเสียวนกลับมาใช้ได้ ยกตัวอย่างเช่น กล้วยอาจจะขายกล้วยไข่และกล้วยหอม แต่ส่วนอื่น ๆ ของกล้วยสามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งจะทำให้กลายเป็น Zero waste ที่ลดจากการใช้ทุกส่วนให้เกิดประโยชน์ ส่วนเศรษฐกิจสีเขียว ต้องอยู่บนพื้นฐานการไม่ทำลายสภาพแวดล้อม อย่างเช่นการใช้พลังงานต่าง ๆ ที่ไม่ปลดปล่อยมลภาวะ การท่องเที่ยวการเกษตรยังสามารถสร้างรายได้ขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกันกรมหม่อนไหมยังมีการคำนึงถึงการฟอกสีไหมไม่ให้มีการใช้สีที่มีสารพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยสินค้าหม่อนไหมตามแนวคิด BCG สามารถทำได้หลายอย่าง เช่น ชาใบหม่อนที่เหลือจากการเลี้ยงไหม และปัจจุบันมีการรับซื้อหม่อน ในรูปแบบต่าง ๆ จนไปถึงการนำมาทำอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพโปรตีนสูงและในอนาคตผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนต่ำและมีโปรตีนสูง เมื่อเทียบกับปศุสัตว์ทัวไปที่ต้องใช้เวลามากและปล่อยคาร์บอนมาก นอกจากนี้การจะทำให้เกิดสินค้ามูลค่าสูงจากไหมสามารถทำได้เช่นกันโดยจะต้องการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) โดยเป็นการทำไหมแบบโบราณเพราะมีการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เมื่อมีการจดทะเบียนมูลค่าจะมีสูงขึ้น และจะต้องมีการใช้นาโนเทคโนโลยีมาปรับปรุงผ้าไหมจะทำให้มีคุณภาพที่สูงขึ้นและยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม อย่างไรก็ตามการทำพันธุ์ไหมจะต้องเก็บพันธุ์เดิมไว้ เพื่อให้มีความหลากหลายและสามารถเก็บไว้ต่อยอดได้ในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องของความยั่งยืนรวมถึงจะต้องมีการต่อยอดไหมโดยเน้นเรื่อง Carbon footprint ให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อเป็นการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและป้องกันการกีดกันทางการค้า

          พร้อมกันนี้ยังมี นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เกียรติเข้าร่วมการอบรมในฐานะประธานพิธี โดยเน้นย้ำว่า สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดขอนแก่น มีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนากลุ่ม Young Smart Farmer ให้เป็นผู้ประกอบการสมัยใหม่ในการเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้สามารถบริหารจัดการด้านการเกษตร โดยจะต้องนำไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมการแปรรูปที่นำไปสร้างมูลค่าได้ เพราะปัจจุบันเกษตรกรมีช่องทางที่เปิดกว้างมาก และเกษตรกรสามารถกลายเป็นผู้ประกอบการเอง และส่งออกเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนกลาง นอกจากนี้ยังได้มีการอบรมเพื่อทำเครือข่ายกระตุ้นและสร้างโครงการ เขียนขอเงินทุน แลกเปลี่ยนสินค้า และขายสินค้าและจะต้องลดการใช้สารเคมี เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในอาหาร

          สำหรับการเสวนาในหัวข้อ “การเตรียมตัวรับการสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ตามกลไกทางการเงินใหม่” ทางด้านนายประสิทธิ์ พันธุ์โบว์ ผู้จัดการสวนผักยายปาว ที่ได้กลายมาเป็น Young Smart Farmer จากการปลูกพืชผักสวนครัวกลายเป็นโรงเรือนขนาดใหญ่จากการเรียนรู้ด้วยตนเองและใช้ทุนความรู้ที่มีจากการกลายเป็นช่าง ซึ่งการดำเนินธุรกิจเป็นไปตามเป้าหมายจนทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอจึงได้กู้ยืมธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพื่อมาต่อยอดธุรกิจ ทำให้ปัจจุบันมีแผนที่จะขยายกิจการโดยซื้อรถห้องเย็น และมีแผนขยายตลาดไปยังห้างสรรพสินค้า โดยมีการตรวจมาตรฐานรับรอง GAP และ GMP ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ห้างสรรพสินค้าที่ต้องการเป็นอย่างมาก ทางด้านคุณนิตยา เหล่าบุรมย์ ผู้จัดการฟาร์ม Mr. Corn ได้เริ่มต้นจากการใช้องค์ความรู้ทางด้านเกษตรกรรมที่จบการศึกษามา และมองเห็นโอกาส จึงได้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด และมีการเริ่มทำการตลาดโดยใช้ Facebook และจำนำรายได้จากการประกอบการมาต่อยอด ทางด้านตัวแทน ธกส. ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกรรุ่นใหม่ การเป็นสมาชิก 90% ส่วนมากจะไม่มีหลักทรัพย์ โดยระยะหลังเกษตรกรมีการเติบโตมากขึ้น ทาง ธกส. สามารถรับจำนองอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เกษตรกรนำเงินไปลงทุนได้ นอกจากนี้หากมีสถานะการเข้ามาเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ คนกลุ่มนี้จะต้องทำให้ธนาคารเห็นว่ารู้ถึงความรู้เรื่องบัญชี การรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงถึงธุรกิจว่าจะขายอะไรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งสามารถปรึกษากับทางธนาคารได้ เงินฝากนั้นไม่จำเป็นมาก เพราะบางรายอาจมีเงินฝากหรือไม่มีก็ได้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำเนินธุรกิจต่อจากพ่อแม่ได้สิ่งเหล่านี้อาจเพิ่มขึ้นหรือแตกต่างกันได้ ในขณะเดียวกันทางด้านตัวแทนธนาคารออมสิน กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า  การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นสิ่งที่ง่ายและสามารถเข้าถึงได้ทุกคน ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมการข้อมูลให้พร้อมและควรมีเอกสารการใช้จ่ายและรายได้ของกิจการตนเอง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือถึงหลักประกัน โดยทางธนาคารออมสินนั้นสามารถให้คงามช่วยเหลือและแนะนำการทำเอกสารให้เรียบร้อยกับผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตามตัวแทนของทั้งสองธนาคารเน้นย้ำว่าการทำบัญชีรายรับรายจ่ายของกิจการในปัจจุบันนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะสามารถบอกศักยภาพในการทำธุรกิจถึงกำไรและขาด ในขณะเดียวกันจะต้องแยกบัญชีระหว่างการใช้จ่ายส่วนตัวและบัญชีกิจการออกด้วยกัน เพื่อให้เห็นถึงภาพธุรกิจโดยรวมถึงรายรับและรายจ่ายที่เกิด

          สำหรับช่วงบ่าย รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล ได้มีการขยายผลกลไกทางการเงินใหม่สู่สถาบันการเงิน โดยเน้นย้ำว่าโครงการนี้จะทำให้ธนาคารเปลี่ยนมุมมองใหม่เพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร เชื่อมโยงเครือข่ายต่าง ๆ และเน้นความสมัครใจจากแบบสอบถามเพื่อเข้ามาอบรม โดยทีมวิจัยจะประสานงานกับคนในพื้นที่หรือผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เกษตรกรมีข้อเสนอที่เหมาะสมกับสถาบันทางการเงิน ซึ่งการขยายผลในปีหน้านี้จะเริ่มทำ Carbon credit กับป่าชุมชนในขอนแก่น และโครงการวิจัยนี้เน้นการลงทุนเพื่อขยายตัวเองให้เติบโต และเป็นครั้งแรกที่ธนาคารเน้นเชิงรุดลงไปช่วยเหลือ เพื่อให้สอดคล้องกับขอนแก่นโมเดล ที่ถือได้ว่าเป็นความได้เปรียบของจังหวัดขอนแก่น  ในเวลาต่อมาสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดขอนแก่น ได้นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อน Young Smart Farmer และกลุ่มที่มีศักยภาพสู่เศรษฐกิจสีเขียวว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับเกษตรกรจากแนวคิด BCG มาเป็นเครือข่ายเพื่อมาทำงานในระดับจังหวัด รวมถึงยังเป็นการสร้างเครือข่าย Young Smart Farmer ให้เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งการขับเคลื่อของจังหวัดขอนแก่นมีการสมัคร Young Smart Farmer และมีการชี้แจงโดยมีเป้าหมาย 40 ราย แต่ในปัจจุบันมีผู้สนใจถึง 56 ราย และอีกเป้าหมายหนึ่งคือ Young Smart Farmer จะเป็นผู้นำทางด้านการเกษตรแทนเกษตรกรรุ่นเก่า โดยใช้นวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ในกระบวนการแต่ละส่วน โดยเป้าหมายสุดท้ายคือ การสร้างเครือข่ายของแต่ละอำเภอให้มารู้จักกันเป็นเครือข่ายกัน อย่างน้อยจังหวัดขอนแก่นจะมีเกิดขึ้น 4 เครือข่ายโดยช่วยกันขับเคลื่อน และทำให้ Young Smart Farmer เป็นเครือข่ายสำคัญและเป็นเครือข่ายหลักในการทำการเกษตร รวมถึงเป็นแหล่งอบรมในการเป็นข้อมูลและเป็นแหล่งสินค้า นอกจากนี้ยังมีประเด็น “การพัฒนา Young Smart Farmer” ที่ปัจจุบันมีสมาชิกถึง 2,600 รายและมีการจัดงานทั้ง 4 เขตในภาคอีสานเพื่อแสดงถึงผลงาน โดยในปัจจุบันนี้แผนในการพัฒนา Young Smart Farmer  มีการวางแผนและประเมินคุณสมบัติ ถ้าผ่านตัวชี้วัด 15 ตัว หากผ่านจะเป็น Young Smart Farmer หากไม่ผ่านตัวชี้วัดจะเป็น Developing Smart Farmer และนำมาจัดทำแผนต่อไป ผู้ที่ผ่านจะเข้าสู่เวทีระดับเขตเพื่อพัฒนาให้เกษตรกรมีระดับสูงขึ้นให้เป็นผู้ประกอบการระดับใหม่ และยังสามารถพัฒนาไปถึงระดับประเทศได้เช่นกัน