ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น Operations and Promotion Center for Livable Smart City Development (OPSCD COLA KKU) ร่วมศึกษาการปรับตัวของสถาบันการเงินทั้งธนาคาร ไม่ใช่ธนาคาร กับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ภายใต้โครงการการสร้างกลไกทางการเงินใหม่เพื่อยกระดับและเพิ่มการกระจายตัวของเศรษฐกิจสีเขียวในระดับพื้นที่ ที่ได้รับการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

วันที่ 2 ธันวาคม 2565 โครงการการสร้างกลไกทางการเงินใหม่เพื่อยกระดับและเพิ่มการกระจายตัวของเศรษฐกิจสีเขียวในระดับพื้นที่ ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยมี รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล อาจารย์ สาขาส่งเสริมการเกษตรและเกษตรเชิงระบบ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินการจัดการประชุมความก้าวหน้า เรื่อง กลไกการเงินกับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ขึ้น ณ โรงแรมโฆษะ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์กลไกทางการเงินสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยในประเด็นจุดแข็งและจุดอ่อน และศึกษาการปรับตัวของสถาบันการเงินทั้งธนาคาร ไม่ใช่ธนาคาร กับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงพัฒนาข้อเสนอแนะในการสร้างกลไกทางการเงินใหม่สำหรับผู้ประกอบการ บนฐานเศรษฐกิจสีเขียว และด้วยความสำคัญ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ได้มอบหมายคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่ในการติดตามการจัดประชุม สัมมนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง ท้องถิ่น และกลไกเติบโตใหม่ กับกิจกรรมการประชุมความก้าวหน้าเรื่อง กลไกการเงินกับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวด้วย
จากการเสวนาหัวข้อ “กลไกทางการเงินสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย” ทำให้ทราบว่าวัตถุประสงค์ของโครงการมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือเกษตรกร โดยให้จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดแรกที่เริ่มต้นในการขับเคลื่อน เพื่อการสร้างเป็นรูปแบบการพัฒนาใหม่ โดยให้หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ขับเคลื่อนไปพร้อมกับหลายภาคส่วน ซึ่งเป็นการสร้างกลไกใหม่และระบบใหม่ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ให้กับผู้ประกอบการรายใหม่และกลุ่ม Young Smart Farmer โดยนางสิริพร จังตระกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและการลงทุน ได้กล่าวเพิ่มเติมการนำเงินจากกองทุนวิจัยดังกล่าวเป็นการนำมาพัฒนาเพื่อให้คุณภาพชีวิตที่ดี และนับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก เพราะต้องคำนึงถึงคุณลักษณะของกลุ่มที่ต้องการได้รับการพัฒนาหรือเข้าร่วมโครงการ โดยเศรษฐกิจสีเขียวนี้จะเป็นรากฐานที่สำคัญในการดำรงอยู่ของประชาชนในประเทศ โดยสิ่งที่สำคัญคือการนำผู้ประกอบการมาเข้าถึงแหล่งเงินทุน จากหลักคิด 3M หรือ Man Money Management ซึ่งเป็นการนำกลุ่มเหล่านี้มาอยู่ร่วมกัน ประกอบด้วยสถาบันทางการเงินและที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินนั้นมีความสามารถในการปล่อยสินเชื่อ แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังขาดความเข้าใจในการเข้าถึงแหล่งทุน จึงนำมาสู่การจัดเสวนาในครั้งนี้
ด้าน นายอภิรักษ์ ดุงศรีแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธกส. ขอนแก่นได้อธิบายถึงกลุ่ม Young Smart Farmer ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร และอีกส่วนได้รับการสนับสนุนจากธนาคารการพาณิชย์ อย่างไรก็ตามการเข้าถึงเงินทุนนั้น คุณสมบัติการกู้ก็ไม่เหมือนกัน แต่จะมุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการเกษตร สำหรับกลุ่มลูกค้าของ ธกส. มีความหลากหลายเป็นจำนวนมาก แต่ ธกส. จะมีจุดเด่นในพันธกิจคือการดูแลเรื่องเกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ซึ่งในปัจจุบันได้เน้นย้ำในเรื่อง กลุ่ม Young Smart Farmer โดยให้ความสำคัญกับทายาทเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ที่เป็นบุคคลและนิติบุคคล รวมไปถึง เงินกู้ในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม แต่ด้วยสภาวะการที่ไม่ปกติและกระแสเรื่อง BCG และ ESG จะต้องออกนโยบายและโครงการใหม่ เช่น สินเชื่อเพื่อปรับปรุงการผลิตการเกษตร สินเชื่อ Green Credit และสินเชื่อรักษ์ป่าไม้ เพื่อตอบโจทย์ในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีสินเชื่อเพื่อสานฝันสร้างอาชีพโดยมีวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทและมีสินเชื่อเพื่อรักษาระดับการผลิตไม่ว่าจะเป็นข้าวเปลือกและมันสำปะหลัง ในขณะเดียวกันทาง ธกส. เอกก็ได้มุ่งเน้นไปที่การลงทุนดอกเบี้ยต่ำ และย้ำว่าจะต้องให้ความสำคัญกับตลาดและการทำ MOU โดยในปัจจุบันสินเชื่อ ธกส. จ่ายไม่เกินร้อยละ 50 ยกเว้นเป็นโครงการเฉพาะกิจและโครงการที่สามารถปรับในระบบได้
ในขณะที่นายวิษณุ ชนไฮ ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาค 11 ธนาคารออมสินภาค 11 ได้อธิบายถึงสถานการณ์ทางการเงินของธนาคารว่า เงินสำหรับการลงทุนมีอยู่จำนวนมาก โดยส่วนมากใช้ไปกับสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ในส่วนนี้เรียกว่า “หนี้จน” ซึ่งตรงข้ามกับ “หนี้รวย” ที่ประกอบด้วยสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อองค์กรชุมชน ซึ่งนายวิษณุเปรียบเทียบสถาบันการเงินกับคลินิคให้ธนาคารนั้นเป็นคลินิคทางการเงิน โดยผู้ประกอบการเป็นเหมือนกับผู้เข้ามาใช้บริการและธนาคารเสนอทางออก
นอกจากนี้นายสมเดช เจริญชัย ผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์เครดิต-ยูเนี่ยนขอนแก่น ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ได้กล่าวว่า ทุนดำเนินงานจะอยู่ในชุมนุมของสหกรณ์เครดิตเป็นเงินหมุนเวียน โดยมาจากสมาชิกของชุมนุมจะเป็นสหกรณ์เท่านั้น มิใช่ตัวบุคคล หากผู้ประกอบการที่จะเอาเงินไปใช้คือผู้ใช้จะต้องจัดตั้งรวมกันเป็นสหกณ์ โดยจุดแข็งของสหกรณ์คือลูกค้ามีความมั่นใจมากกว่าธนาคารในการเข้าถึงเงินทุนและจะสามารถที่จะฝากและกู้ยืมได้ การค้ำประกันก็จะง่ายกว่าและอัตราดอกเบี้ยไม่ห่างกันมากเมื่อเทียบกับธนาคาร และจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งคือการมีสวัสดิการพื้นฐาน
ในส่วนของผู้ประกอบการโดยนางนิตยา เหล่าบุรมย์ ผู้จัดการฟาร์ม Mr.Corn อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ได้ดำเนินธุรกิจกิจมาตั้งแต่ปี 2553 และได้มีการสร้างเครือข่ายและนำงานวิจัยมาทำ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นการเกษตรอย่างต่อเนื่อง และได้เครือข่ายจากต่างประเทศในการปรับปรุงพันธุ์ ให้ช่วยปลูกและดูแลพันธุ์พริก โดยได้เงินมาลงทุนที่ไร้ดอกเบี้ยมาใช้ เมื่อสำเร็จจึงเกิดองค์ความรู้ใหม่ในด้านของเมล็ดพันธุ์และแบ่งรายได้ไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดจากเงินกำไรปีที่ 3 ต่อมาได้การขยายงานเริ่มขึ้นและหาหน่วยงานมาช่วยเป็นหน่วยงานแรก ในขณะที่นางสุนิสา ผางโคกสูง ซึ่งเป็นรองประธานวิหากิจชุมชนแปลงใหญ่ (พืชผัก) ตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ได้ดำเนินการ วิสาหกิจชุมชนรายใหญ่ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐเป็นจำนวนเงิน 3 ล้านบาท ในการปลูกพืชโรงเรือนเป็นหลัก โดยเป็นพืชแปลงใหญ่ขนาดใหญ่ และมีเกษตรทั้งตำบล 84 รายจากวิสาหกิจชุมชน และกลายเป็นนิติบุคคล เพื่อขอรับงบประมาณจากรัฐ อย่างไรก็ตามปัจจุบันทางกลุ่มเห็นการตลาดยังสู้ไม่ได้ จึงเน้นไปที่การปลูกเมล่อน ในขณะเดียวกันสมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ จึงมีข้อจำกัดทางด้านการทำงาน ทั้งนี้จึงได้ทำโครงการสำหรับผู้สูงอายุในการดำเนินการเรื่องปลูกผักโรงเรือนวันละ 25 กิโลกรัมต่อวัน และมีการบริหารงานแบบห้างหุ้นส่วน วิสาหกิจ กลุ่มเกษตรกรโดยมีกรรมการแต่ละกลุ่ม เป็นที่น่าสังเกตว่าการดำเนินการธุรกิจดังกล่าวนี้ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของสมาชิกในชุมชนและได้กลายมาเป็นทั้งรายได้หลักและรายได้เสริมของคนในชุมชน
ทั้งนี้จากข้อสรุปการประชุมทำให้เห็นว่าแม้ว่าจะมีการหย่อนเกณฑ์ให้กับผู้ประกอบการแล้ว แต่ธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้ง่ายมากที่สุดคือการเปิดร้านค้าที่ไม่มีหน้า และปัญหาของการเข้าถึงเงินทุนคือความไม่รู้ของผู้ประกอบการและทางสถาบันทางการเงิน โดยธนาคารไม่เพียงแต่จะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ลงทุนร่วมด้วยเช่นกัน ทั้งนี้นางสิริพร จังตระกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและการลงทุน ยังได้สรุปแนวทางเพิ่มเติมว่าธนาคารที่เป็นสถาบันทางการเงินควรจะดำเนินการโครงการกับผู้ประกอบการต่อเนื่อง แต่มุ่งไปที่การทำโครงการนำร่องและให้ธนาคารเป็นผู้สนับสนุน โดยเน้นย้ำว่าทางธนาคารต้องการให้ผู้ประกอบการมีการวางแผนทางธุรกิจที่ดีและมีหลักประกัน รวมถึงกำหนดวันแล้วเสร็จของโครงการให้มีความชัดเจน โดยธนาคารช่วยเหลือทางด้านการตลาดด้วยในเวลาเดียวกัน




































