PSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ การจัดทำคลังความรู้ (Knowledge Stock) กับเวทีสาธารณะ Tech Foresight ภาคเหนือ

ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรม ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีทิศทางกับเวทีสาธารณะ “การสังเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดสู่พื้นที่ ทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาระดับท้องถิ่นภาคเหนือ (การทำ Tech Foresight ภาคเหนือ) 

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับทุนจากกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้ทำการจัดทำคลังความรู้ (Knowledge Stock) ในการพัฒนาพื้นที่ของประเทศไทย จัดทำแผนในการถ่ายทอดความรู้สู่กลไกพัฒนาพื้นที่ รวมถึงจัดทำ Knowledge Roadmap ทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมในการพัฒนาพื้นที่ของประเทศไทยในแต่ละภูมิภาค โดยร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ 4 แห่ง ใน 4 ภูมิภาค อันได้แก่ 1. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2.คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  3. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ 4. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ในแต่ละที่ก็จะทำหน้าที่เป็นแม่ข่าย (Node) ในการประสานกับเครือข่ายประชาคมวิจัย ทั้งในสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และชุมชนในแต่ละภูมิภาค เพื่อทำให้เกิดคลังความรู้กลางในการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงการจัดทำแผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลไกพัฒนาพื้นที่

โดยในวันที่ 7 ธันวาคม 2564 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำภูมิภาคภาคเหนือ ได้จัดการประชุมการสังเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดสู่พื้นที่ฯ เพื่อนำเสนอผลการรวบรวมข้อมูล Knowledge Stock อันประกอบด้วย ข้อมูลนักวิจัย เทคโนโลยีนวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาพื้นที่ของเครือข่ายสถาบันการศึกษาในภาคกลางพร้อมหลักสูตรที่พร้อมถ่ายทอดสู่กลไกการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงการจัดลำดับของเทคโนโลยีที่พร้อมใช้ในการพัฒนาพื้นที่ และร่วมกันทำแผนที่นำทางในการพัฒนาความรู้ เทคโนโลยี (Technology Roadmap) ในการพัฒนาภาคเหนือต่อไป ขึ้น ณ ห้องประชุม ete ชั้น 8  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยการจัดเวทีครั้งนี้ รศ.ดร.ธงชัย ฟองสมุทร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้ให้เกียรติมากล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมเวทีสาธารณะTech Foresight ภาคเหนือ ทั้ง on-site และ on-line ซึ่งประกอบด้วย  ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเครือข่ายภาคเหนือ หอการค้าประจำจังหวัดภาคเหนือ นักวิชาการ นักวิจัย ปราชญ์ชุมชน ภาคเอกชน ในพื้นที่ จำนวน 200 คน จากนั้น รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ  ผู้บริหารโครงการวิจัย “การสังเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อถ่ายทอดสู่พื้นที่ทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาระดับท้องถิ่น (Technology Roadmap & Knowledge Stock)” ได้กล่าววัตถุประสงค์โครงการฯ และที่มาของการทำ Tech Foresight ในแต่ละภูมิภาค ในฐานะผู้ประสานความร่วมมือ และสนับสนุนในเชิงโครงสร้าง ตามต่อด้วย ผศ.ดร.ชัชวาลย์ ชัยชนะ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และวิเทศสัมพันธ์ และ รศ.ดร.จักรพงศ์ นาทวิชัย รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และแผนงาน นำเสนอสิ่งที่ได้ดำเนินการผ่านมา ผลการสำรวจรวบรวมข้อมูลKnowledge Stock อันได้แก่ นวัตกรรม  ในการพัฒนาระดับท้องถิ่น ข้อมูลหลักสูตรที่พร้อมจะถ่ายทอด (Key Curriculum) รวมถึงแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่องค์กรปกครองท้องถิ่นของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายภาคเหนือ 

สำหรับการนำเสนอเทคโนโลยีที่พร้อมใช้ในการพัฒนาพื้นที่ ที่ผ่านการคัดเลือกด้านเทคโนโลยีของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเครือข่ายสู่การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ภาคเหนือนั้น ถูกจัดลำดับมาถึง 15 อันดับที่น่าสนใจ เพราะมีการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดสู่การใช้งานได้จริง พร้อมสามารถใช้งานในเชิงอุตสาหกรรม และการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความโดดเด่นในเรื่องของการปัญหาอากาศ และเทคโนโลยี smart เป็นอย่างมาก อันประกอบด้วย 1. อุปกรณ์ช่วยสอนการทำ CPR 2. การพัฒนาระบบตรวจวัดสภาพภูมิอากาศเพื่อสนับสนุนการทำการเกษตรอย่างแม่นยำ 3. การพัฒนาศักยภาพของแหล่งน้ำตันทุนเพื่อใช้แก้ไขปัญหาน้ำเสียของคลองแม่ข่า 4. ระบบดอมพิวเตอร์แบบฝังตัว GoGo Board 5.ระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 6. ระบบสารสนเทศการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ (CMDDi) 7. ตู้เก็บตัวอย่างเชื้อ (Swab room) 8. เครื่องขึ้นรูปอาหารสามมิติแบบเฉพาะเจาะจง โมเดล 19.เครื่องสแกนอาหาร 3 มิติ (PINTO) 10. เซรั่มกระตุ้นการงอกของเส้นผมจากสารสกัดกาแฟ (ArabiGrow) 11. เครื่องผลิตน้ำกระตุ้นพลาสมาอุณหภูมิต่ำสำหรับการยับยั้งเชื้อก่อโรคในอุตสาหกรรมอาหาร 12. โพรไฟล์กระบวนการแปรรูปกาแฟที่เหมาะสมสำหรับการอบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 13. การพัฒนาอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบโรค แมลงและการเปลี่ยนแปลงกลิ่นเหม็นในข้าวกล้อง โดยใช้เทคโนโลยี จมูกอิเล็กทรอนิกส์ 14. Developing a Dynamic Digital Twin for Sustainable Smart City Management 15. เทคโนโลยีใช้น้ำยางพาราในงานบำรุงรักษาระบบชลประทาน ซึ่งองค์ความรู้ นวัตกรรม ข้อมูลนักวิจัยทั้งในระบบ และในเชิงโครงการทั้งหมดนี้จะถูกรวบรวม ลงสมุดปกเหลืองจัดทำเป็นคลังความรู้ต่อไป และเผยแพร่ที่เว็บไซต์ https://knowledgestock.org/ 

ในส่วนของข้อมูลหลักสูตรที่พร้อมจะถ่ายทอด (Key Curriculum) นั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้นำเสนอถึง 2 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตร Smart City Minor หรือ “เมืองอัจฉริยะ” ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่าย และการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นแนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืนโดยประกอบด้วยกระบวนวิชาหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะ (Introduction to Smart City) ความเป็นอยู่อัจฉริยะ (Smart Wellbeing) การประยุกต์ไอโอทีสำหรับบ้านอัตโนมัติ (IoTApplication for Home Automation) การจราจรและคมนาคมอัจฉริยะ (Fundamental of Traffic and Transportation) และ โครงงานเมืองอัจฉริยะ (Smart City Project) เป็นต้น 

และหลักสูตร City Engineering and Development Track ซึ่งเป็นหลักสูตรในระดับปริญญาตรี สาขา Integrated Engineering ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยหลักสูตรดังกล่าวจะมีความยืดหยุ่นสูงผู้เรียนสามารถออกแบบหลักสูตรได้เอง ตอบสนองการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยมิติการบูรณาการข้ามสายงานอย่างทันสมัย โดยหลักสูตรดังกล่าวได้มีการออกแบบกับหน่วยงานภายนอกเพื่อสร้างบัณฑิตที่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถเลือกเรียนเฉพาะวิชาที่ใช่กับการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในอนาคต อนึ่ง ในการนำเสนอผลงานเทคโนโลยีที่พร้อมใช้ในการพัฒนาพื้นที่ และนวัตกรรมที่พร้อมถ่ายทอดสู่การพัฒนาพื้นที่ ภาคเหนือ ได้มี ดร.จักรพงศ์ พงศ์ธไนศวรรย์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มาสรุปและสะท้อนผลการสังเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อจัดทำTechnology Roadmap เพื่อถ่ายทอดสู่พื้นที่ ทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาระดับท้องถิ่นภาคเหนือ ด้วย