ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรม ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีทิศทางกับเวทีสาธารณะ “การสังเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดสู่พื้นที่ ทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาระดับท้องถิ่นภาคกลาง (การทำ Tech Foresight ภาคกลาง)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับทุนจากกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้ทำการจัดทำคลังความรู้ (Knowledge Stock) ในการพัฒนาพื้นที่ของประเทศไทย จัดทำแผนในการถ่ายทอดความรู้สู่กลไกพัฒนาพื้นที่ รวมถึงจัดทำ Knowledge Roadmap ทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมในการพัฒนาพื้นที่ของประเทศไทยในแต่ละภูมิภาค โดยร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ 4 แห่ง ใน 4 ภูมิภาค อันได้แก่ 1. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา 3. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 4. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ในแต่ละที่ก็จะทำหน้าที่เป็นแม่ข่าย (Node) ในการประสานกับเครือข่ายประชาคมวิจัย ทั้งในสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และชุมชนในแต่ละภูมิภาค เพื่อทำให้เกิดคลังความรู้กลางในการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงการจัดทำแผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลไกพัฒนาพื้นที่
โดยในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำภูมิภาคภาคกลาง ได้จัดการประชุมการสังเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดสู่พื้นที่ฯ เพื่อนำเสนอผลการรวบรวมข้อมูล Knowledge Stock อันประกอบด้วย ข้อมูลนักวิจัย เทคโนโลยีนวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาพื้นที่ของเครือข่ายสถาบันการศึกษาในภาคกลางพร้อมหลักสูตรที่พร้อมถ่ายทอดสู่กลไกการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงการจัดลำดับของเทคโนโลยีที่พร้อมใช้ในการพัฒนาพื้นที่ และร่วมกันทำแผนที่นำทางในการพัฒนาความรู้ เทคโนโลยี (Technology Roadmap) ในการพัฒนาภาคกลางต่อไป ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดยการจัดเวทีครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กรหน่วย บพท. มาร่วมรับฟัง พร้อมบรรยายพิเศษ เกี่ยวกับ open knowledge society เพื่อกระตุ้นให้ทีมนักวิจัย มองเห็นว่าเราจะดึงเอาความรู้เฉพาะที่มีด้วยกลไกข้อมูลกลางอย่างไร ภายใต้แผนงานวิจัย ที่ว่า “ถ้างบประมาณ หรือทรัพยากรเรามีจำกัด เราจะทำอย่างไรกันดี” พร้อมมองต่อร่วมกันว่า เราจะเชิญทุกคนมาเป็นผู้ใช้ “ความรู้ที่มีอยู่ใน knowledge stock อย่างไร” และส่งมอบองค์ความรู้เพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยต่อไปอย่างไร
สำหรับการนำเสนอ การจัดทำ Technology Roadmap ของภาคกลาง ภายใต้การนำของ รศ. ดร.พีรยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร และทีมจากวิทยาเขตทั้ง 4 ที่ร่วมนำเสนอคลังความรู้ “ฐานข้อมูลแบบเปิดซึ่งกันและกัน” สู่การพัฒนาระดับพื้นที่ ผ่านระบบออนไลน์ ในวันนี้ประกอบด้วย ข้อมูลนักวิจัย เทคโนโลยีนวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาพื้นที่ของเครือข่ายสถาบันการศึกษาในภาคกลาง หลักสูตรที่พร้อมถ่ายทอดสู่กลไกการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงเทคโนโลยีที่พร้อมใช้ในการพัฒนาพื้นที่ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้ง 4 วิทยาเขต น่าสนใจเป็นอย่างมาก อาทิเช่นของ วิทยาเขตบางเขน ซึ่งประกอบด้วย นวัตกรรมเครื่องหย่อนกล้า (I-KIAM KU) ตู้ตรวจความดันบวก เครื่องอบเนื้อสัตว์แดดเดียวไม่ง้อแสงอาทิตย์ สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และ Application 2in1 GAP Platform Service
วิทยาเขตกำแพงแสน ประกอบด้วย ศูนย์ทดสอบประตูหน้าต่างและระบบกระจกสำหรับอาคาร เครื่องคั่วเมล็ดกาแฟ ระบบตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมอัตโนมัติสำหรับโรงเรือนโคนม
วิทยาเขตสกลนคร ประกอบด้วย นวัตกรรมดินมีชีวิต การยกระดับอาหารท้องถิ่นอีสานแบบใหม่ (E-San Gastronomy) สหกรณ์โพนยางคำฯ
และ วิทยาเขตศรีราชา ประกอบด้วย
เสาทางหลวงอัจฉริยะ (Smart Highway Guidepost) เตียงผู้ป่วย Patient Bed และหลักสูตร Design Control for Medical Device
ซึ่งองค์ความรู้ทั้งหมดนี้จะถูกรวบรวม และเผยแพร่ที่เว็บไซต์ https://knowledgestock.org/