OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ “ลงมือทำ นำมาแลกเปลี่ยนขับเคลื่อนสังคมไม่ทนต่อการทุจริต”

ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรม ตอบโจทย์ การพัฒนาคุณภาพคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน ผ่านระบบประเมินที่มีชื่อว่า Tyintegrity ในกิจกรรม“ลงมือทำ นำมาแลกเปลี่ยนขับเคลื่อนสังคมไม่ทนต่อการทุจริต” ของหลักสูตร การพัฒนาและฝึกอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. และบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการประเมินพฤติกรรมเด็ก และเยาวชนที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ณ The Tide Resort ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี

          ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้คัดเลือกมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินโครงการวิจัยประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ในสถานศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ถึงระดับอุดมศึกษา จำนวน 3,220 แห่งทั่วประเทศ กลุ่มเป้าหมายกว่า 200,000 คน ซึ่งคณะผู้วิจัยสหสาขาวิชา โดยการนำของ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงษ์ธนวสุ นักวิจัยประจำศูนย์ ได้พัฒนาระบบประเมินที่มีชื่อว่า Tyintegrity ในการวิจัยประเมินผลพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต ขึ้น และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานผสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อีกทั้งเพื่อมุ่งตอบสนองยุทธศาสตร์ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 6 แผนแม่บทที่ 21 การต่อต้าน การทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ.2561-2580) รวมทั้งมุ่งถ่ายทอดความรู้จากงานวิจัยสู่บุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช.และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีทักษะด้านการวิจัยและประเมินผลพฤติกรรมที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ตลอดจนสามารถใช้ระบบ Collaborative Digital Platform (Tyintegrity) เพื่อทำหน้าที่เป็น trainer ให้กับสถานศึกษาได้ ในระหว่างวันที่ 8 – 9 มีนาคม 2564 ทางโครงการฯ จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร การพัฒนาและฝึกอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. และบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ขึ้น ณ จังหวัดชลบุรี

          วันที่ 8 มีนาคม 2564 ในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก ผอ.สวรรยา รัตนราช ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวรายงาน และ รศ.ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. ให้เกียรติเป็นประธาน กล่าวเปิดการอบรม โดยสาระส่วนหนึ่งที่ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้เน้นย้ำกับ เครือข่ายสถาบันการศึกษาจากทั้ง 7 ภูมิภาค จำนวน 80 คน อันประกอบด้วย บุคลากรสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมบุคลากรสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ บุคลากรสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน บุคลากรสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา บุคลากรสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน บุคลากรสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย บุคลากรสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น บุคลากรสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร บุคลากรสังกัดสำนักการศึกษาเมืองพัทยา และบุคลากรสังกัดสำนักงาน ป.ป.ช. คือ “ในฐานะที่ ป.ป.ช. เป็นองค์กรหลักในการต่อต้านการทุจริตของประเทศไทยได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 พ.ศ. 2560-2564 ที่กำหนดวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต (Zero Tolerance and Clean Thailand)” และพันธกิจหลัก คือเพื่อสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านการทุจริต ยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทุกภาคส่วน และปฏิรูปกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งระบบให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล และเพื่อขับเคลื่อน ตนได้จัดทำ โครงการ “STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต” ซึ่งเป็นโครงการที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 ในยุทธศาสตร์ที่ 1 เป็นการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต อันเป็นกลยุทธ์ว่าด้วยเรื่องของการปรับฐานความคิดทุกช่วงวัย ตั้งแต่ปฐมวัยให้สามารถแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม ส่งเสริมให้มีระบบและกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมเพื่อต้านทุจริต ประยุกต์หลักความพอเพียงเป็นเครื่องมือต้านทุจริต และเสริมสร้างพลังการมีส่วนร่วมของชุมชน และบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อต่อต้านการทุจริต ซึ่งโครงการ “STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต”  ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ประกอบหลักการต่อต้านการทุจริตอื่น ๆ เพื่อสร้างฐานคิดจิตพอเพียงต่อต้านทุจริตให้เกิดขึ้นของปัจเจกบุคคล โดย โมเดล “STRONG” ของ รศ.ดร. มาณี ไชยธีรนุวัฒศิริ นั้น  ประกอบด้วย พอเพียง (Sufficient : S) โปร่งใส (Transparent : T) ตื่นรู้ (Realise : B) มุ่งไปข้างหน้า (Onward : O) ความรู้ (Knowledge : N) และเอื้ออาทร (Generosity : G) และเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาวัฒนธรรมชุมชนโปร่งใสไร้การทุจริต โดยมีกระบวนการเผยแพร่หลักการ “STRONG” ไปสู่ชุมชนด้วยการสร้างเทรนเนอร์ (Trainer) ที่มีความสามารถและทักษะเพื่อเป็นตัวแทนของสำนักงาน ป.ป.ช. ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการคิดแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ความไม่ทนและความอายต่อการทุจริต และหลักการจิตพอเพียงด้วยวิธีการที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ทุกภาคส่วนมีความตระหนักรู้และเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการทุจริตอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและเกิดค่านิยมต่อต้านทุจริตในสังคมไทย”

          จากนั้นเป็นการกล่าวชี้แจงแนวทางการวิจัย โดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นักวิจัยประจำศูนย์ และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า “เป้าหมายสำคัญของการวิจัยครั้งนี้เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายที่กำหนดในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ถือเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 เน้นการปรับฐานคิดของเด็กและเยาวชน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบหรือกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม ผ่านการประยุต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานคิดในการต้านทุจริต รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ นำมาสู่การพัฒนาชุดการเรียนรู้ด้านการป้องกันการทุจริต สำหรับนำไปใช้เป็นมาตรฐานกลางในการจัดการเรียนในระบบการศึกษาของประเทศไทยตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงอุดมศึกษา

          โดยในระยะแรก เด็กและเยาวชนไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 มีพฤติกรรมที่ยึดมั่นต่อความซื่อสัตย์สุจริต และเพื่อที่จะได้รู้ว่าตัวชี้วัดนี้มีความครบครัน ตรงไหน อย่างไร หลักสูตรที่สถานศึกษานำไปใช้มีผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด มีปัญหา อุปสรรค หรือข้อเสนอแนะใด จึงต้องมีการประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยระบบประเมินที่มีชื่อว่า Tyintegrity โดยมีนักวิจัยหลากหลายสาขาร่วมกันตอบโจทย์ อาทิเช่น ด้านสังคมศาสตร์ สถิติ รัฐประศาสนศาสตร์ โดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ด้านแผนและพัฒนานโยบายศาสตร์ โดย รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม อาจารย์สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย อาจารย์สุริยานนท์ พลสิม ด้านออกแบบและพัฒนาระบบประเมินพฤติกรรมเด็ก โดย ผศ.ดร.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒน อ.ดร.วชิราวุธ ธรรมวิเศษ อ.ดร.สายัญ สายยศ ด้านจิตวิทยาสังคมปฎิสัมพันธ์มนุษย์กับ-คอมพิวเตอร์การจัดการสาธารณะ โดย อ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ด้านวิจัยการศึกษาวัดและประเมินผล โดย ผศ.ดร.จตุภูมิ เขตจัตุรัส ด้าน Brain Mind Learning พฤติกรรมศาสตร์ โดย ผศ.ดร.พัชรินทร์ พูลทวี ผศ.ดร.วรากร ทรัพย์วิระปกรณ์ และด้านการจัดการโครงการวิศวกรรมศาสตร์ โดย อาจารย์ณรงค์เดช มหาศิริกุล

          การดำเนินโครงการวิจัยประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริตและการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาครั้งนี้ มีเป้าหมายที่สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สถานศึกษาในสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมทุกระดับ 3,220 แห่งทั่วประเทศ มีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ผู้สอน ผู้บริหาร และผู้ปกครอง รวมกลุ่มเป้าหมายเกือบ 2 แสนคน กระจายทั่วประเทศ 77 จังหวัด การวิจัยประเมินภายใต้โครงการวิจัยนี้ได้ดำเนินผ่านระบบ Digital platform ที่มีชื่อว่า tyintegrity และประมวลผลด้วย Machine Learning”

          ด้าน อ.ดร.วชิราวุธ ธรรมวิเศษ นักวิจัยด้านออกแบบและพัฒนาระบบประเมินพฤติกรรมเด็ก ได้ชี้แจ้งการใช้งานระบบ Thai Youth Integrity เพื่อประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตและประเมินผลสัมฤทธิ์ในการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจเบื้องต้นว่าด้วยระบบ Thai Youth Integrity อธิบายองค์ประกอบสำคัญและโครงสร้างการใช้งานของระบบ Thai Youth Integrity วิธี ใช้งานระบบ Thai Youth Integrity และการเข้าระบบ การประเมิน การบันทึก การวิเคราะห์ผล และการออกรายงาน ฯลฯ กับผู้เข้าร่วมการอบรม อย่างเข้าถึงเครื่องมือ ก่อนนำไปฝึกปฏิบัติจริง ในกิจกรรม“Learning by Doing ลงมือทำ นำมาแลกเปลี่ยน ขับเคลื่อนสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต”

          โดยในช่วงบ่ายของวันที่ 8 มีนาคม 2564 คณะผู้วิจัยสหสาขาวิชา ได้มีการแบ่งทีม ว่าที่ trainer ให้กับสถานศึกษา ในการนำเครื่องมือไปฝึกปฏิบัติ การประเมิน การบันทึกและการวิเคราะห์ผล ในพื้นที่จริง โดยแบ่งเป็น 7 ช่วงชั้น ได้แก่ กลุ่มปฐมวัย (โรงเรียนอนุบาลชลบรุี และ โรงเรียนอนุบาลเมืองใหม่ชลบุรี) กลุ่มประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 (โรงเรียนโรงเรียนศรีเอ่ียมอนสุรณ์ เขตบางนา และโรงเรียนเทศบาลชลราษฎร์นุเคราะห์) กลุ่มประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 (โรงเรียนบ้านห้วยกะปิ และโรงเรียนวัดเขาเชิงเทียนเทพาราม) กลุ่มมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 (โรงเรียนพานทองสภาชนูปถัมภ์ และโรงเรียนหัวถนนวิทยา) กลุ่มมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6 (โรงเรียนเมืองพัทยา 11 และโรงเรียนชลราษฎรอำรุง) กลุ่มอุดมศึกษาปีที่ 1 – 2 (มหาวิทยาลัยบูรพา) กลุ่มอุดมศึกษาปีที่ 3 – 4 (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ตะวันออก) โดยการนำเครื่องมือประเมินไปประเมินในพื้นที่จริง ตามประเภทของสถานศึกษาเพื่อทดลองใช้เครื่องมือประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตแ ละเครื่องมือประเมินผลสัมฤทธิ์ในการใช้หลักสูตรต้านทุจริตรรวมทั้งการใช้งานระบบการบันทึกและการวิเคราะห์ผล พร้อมทำสรุปจากการฝึกปฏิบัติในพื้นที่

          วันที่ 9 มีนาคม 2564 ได้จัดให้มีเวทีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้บทเรียนที่ได้รับจากการทดลองใช้เครื่องมือและกระบวนการบริหารจัดการในพื้นที่ โดย trainer ที่ได้ลงพื้นที่ทั้ง 12 สถานศึกษาต่างได้ร่วมกันนำเสนอผลการฝึกปฏิบัติกระบวนการประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนด้านความซื่อสัตย์สุจริตและการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการใช้หลักสูตรต้านทุจริตในพื้นที่ จำนวน 12 กลุ่ม จาก 7 ช่วงชั้น ถึงสิ่งที่พบจากกระบวนการประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนด้านความซื่อสัตย์สุจริตแ ละการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการใช้หลักสูตรต้านทุจริตข้อสังเกตที่ได้จากการฝึกปฏิบัติในพื้นที่ และข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา

          และปิดท้ายกิจกรรมด้วยการนำผลที่ได้จากการลงพื้นที่มาวิเคราะห์เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงคุณภาพ การวิเคราะห์ผล และสถิติตัวแปรต่าง ๆ ในระบบ Thai Youth Integrity การวิเคราะห์ผลเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การวิเคราะห์ผลเพื่อพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรต้านทุจริต การออกแบบรายงานในระบบ Thai Youth Integrity และการปรับแก้ระบบ Thai Youth Integrity ในอนาคต โดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ อ.ดร.วชิราวุธ ธรรมวิเศษ อ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ และผศ.ดร.จตุภูมิ เขตจัตุรัส

          อนี่ง หลักสูตรการพัฒนาและฝึกอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานป.ป.ช. และบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการประเมินพฤติกรรมเด็กและเยาวชนที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต “ลงมือทำ นำมาแลกเปลี่ยนขับเคลื่อนสังคมไม่ทนต่อการทุจริต” ณ The Tide Resort ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี นับเป็นการขับเคลื่อน ความท้าทาย และโอกาสในการพัฒนาคุณภาพคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนร่วมกันกับสถานศึกษา โดยการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงที่ดีของผู้บริหาร ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง เขตพื้นที่การศึกษา มหาวิทยาลัย และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างสังคมที่ดีร่วมกันในอนาคต