การพัฒนาเมืองอัจฉริยะขอนแก่น
“เมือง” ได้ถูกนำมาใช้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตความ
เป็นอยู่ รวมถึงเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศด้วย เช่นเดียวกับ
แนวคิด “เมืองอัจฉริยะ (smart city)” ที่รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกตระหนักต่ออิทธิพลและความสำคัญของ
การพัฒนาเมืองอย่างบูรณาการระหว่างคน เมือง และเทคโนโลยี ให้มีความอัจฉริยะและสมดุลใน 7 ด้าน
อันประกอบด้วยด้านเศรษฐกิจ (economy) สิ่งแวดล้อม (environment) การศึกษา (education) การดำรงชีพ
(living) การจัดการภาครัฐ (governance) การจัดการพลังงาน (energy) และการคมนาคมขนส่ง (mobility)
การพัฒนาเมืองในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ให้มีความอัจฉริยะอย่างสมบูรณ์แบบจนกลายเป็น “เมืองอัจฉริยะ” จะนำไปสู่
การพัฒนาเมืองให้ทันยุค ทันสมัยและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีของโลกได้
เป็นอย่างดี
หนังสือ “การพัฒนาเมืองอัจฉริยะขอนแก่น” เล่มนี้ เป็นผลการศึกษาที่ได้จากโครงการวิจัย “การวางแผน
กลยุทธ์ในการนำนโยบายการพัฒนาตามแนวทางเมืองอัจฉริยะไปสู่การปฏิบัติ: การถอดบทเรียน การประเมิน
การตรวจสอบความตรง และการพัฒนาข้อเสนอแนะ” นี้ คณะผู้วิจัย ซึ่งนำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัฒนา
กร วงศ์ธนวสุ และคณะ ได้มุ่งมั่นจัดทำงานวิจัยชิ้นนี้ขึ้นมาภายใต้ความคาดหวังเพื่อถอดบทเรียนและสังเคราะห์
แนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สอดรับบริบทของประเทศไทย เพื่อให้ “เมืองอัจฉริยะ” ได้กลายเป็นอีกหนึ่ง
ฟันเฟืองหรือเครื่องมือชิ้นใหม่ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมด้านต่าง ๆ ให้กับประเทศ ซึ่ง
โครงการวิจัยดังกล่าวนี้ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย
และนวัตกรรม (สกสว.) ประจำปีงบประมาณ 2562
ขอบคุณ รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม อาจารย์ฐาปนา บุณยประวิตร ในคำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ขอบคุณผู้บริหารเทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลเมืองเมืองเก่า เทศบาลตำบลท่าพระ
และเทศบาลตำบลสำราญ ที่ร่วมขับเคลื่อนจนทำให้เกิดวิสาหกิจของเทศบาลแห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้การ
สนับสนุนของ อบจ.ขอนแก่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรมขอนแก่น ขอบคุณนักธุรกิจขอนแก่นที่ร่วมกันทำให้เกิด
กลไกใหม่ในการพัฒนาพื้นที่ ขอบคุณหัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงาน รวมถึงการสนับสนุนเชิงวิชาการอย่าง
เข้มข้นจากคณะผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินโครงการวิจัย และที่สำคัญ
อย่างยิ่ง คณะผู้วิจัยต้องขอกราบขอบพระคุณ “พลเมืองตื่นรู้” ทั้งจากภาคเอกชน ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วน
ท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และสถาบันวิชาการของเมืองขอนแก่นที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาจนเป็นที่รู้จัก
โดยทั่วไปในชื่อว่า “ขอนแก่นโมเดล” ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่คณะผู้วิจัยได้นำมาถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การขยาย
ผลและขับเคลื่อนในเชิงนโยบายและเป็นตัวอย่างของการพัฒนาเมืองอื่น ๆ ต่อไป
โดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ อาจารย์สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย และอาจารย์สุริยานนท์ พลสิม