นักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (OPSCD KKU) ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ หวังให้นักศึกษาสามารถบูรณาการวิชาการความรู้ทางด้านการจัดการกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และสามารถฝึกทักษะในการจัดสัมมนาได้

ด้วยความสำคัญ ของ “คุณธรรม จริยธรรม” ที่ผู้เรียนพึงมี ล้วนถูกสอดแทรกอยู่ในทุกบริบทของการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบ ความมีวินัย ความมีจรรยาบรรณวิชาชีพ ภาวะผู้นำและสร้างจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจในอนาคต ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างการตระหนักในคุณค่าและคุณธรรม จริยธรรม อีกทั้งเสริมทักษะให้นักศึกษาสามารถวิเคราะห์ผลกระทบจากการวิเคราะห์แนวโน้มสังคม ถึงการมีจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ 2565 รายวิชาจริยธรรมสำหรับนักบริหารภาครัฐ โดยมี อ.ดร. ฌาน เรืองธรรมสิงห์ เป็นอาจารย์ผู้สอน ละในฐานะนักวิจัยศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้กำหนดให้มีกิจกรรมการสัมมนาวิชาการเรื่อง “วัยรุ่นไทยยุคใหม่กับจริยธรรม” ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการปกครองท้องถิ่น วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น จำนวน 60 คน ขึ้น ณ ห้อง 209 วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมเชิญผู้มีประสบการณ์มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักศึกษา อันประกอบด้วย รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ อาจารย์ประจำ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ นายเอกลักษณ์ พันธะไหล ประธานฝ่ายวิชาการ สโมสรนักศึกษาวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายศิวกร นามนวด เลขานุการสภานักศึกษา สภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
สำหรับกิจกรรมนั้นเริ่มต้นด้วย อ.ดร. ฌาน เรืองธรรมสิงห์ อาจารย์ผู้สอนรายวิชาจริยธรรม สำหรับนักบริหารภาครัฐ ละในฐานะนักวิจัยศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วปท.มข. ได้กล่าวรายงานความสำคัญการจัดสัมมนาวิชาการ ดังนี้ “งานเสวนาวัยรุ่นไทยยุคใหม่กับจริยธรรม จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาวิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบุคคลทั่วไป ได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมของวัยรุ่นไทยยุคปัจจุบัน เนื่องจากในปัจจุบันสภาพสังคมและยุคโลกาภิวัตน์ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนทั่วโลก โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงสื่ออย่างแพร่หลาย จึงทำให้เข้าถึงบริบทพหุวัฒนธรรม กระแสสังคมทั่วทุกมุมโลกมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Black live mater, Asian hate จนนำไปสู่การตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็น เรื่อง เพศ สีผิว หรือแม้แต่สิทธิของตนเอง จนทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญในไทย คือ การรวมตัวกันประท้วงของกลุ่มนักเรียนหรือเรียกว่า “กลุ่มนักเรียนเลว” บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ หรือเหตุการณ์อื่น ๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิส่วนบุคลในเรื่องทรงผม การแต่งกาย ของนักเรียน โดยเหตุการณ์ที่กล่าวมาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามในสังคมไทยว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมหรือไม่ถูกจริยธรรม จึงนำมาสู่การจัดงานในหัวข้อ เสวนาวัยรุ่นไทยยุคใหม่กับจริยธรรม เพื่อเสวนาและบรรยายในหัวข้อดังกล่าว และเปิดพื้นที่ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนมุมมอง/พูดคุยใน3 ประเด็นหัวข้อหลัก อาทิ ประเด็นที่ 1 มุมมองที่มีต่อจริยธรรมของวัยรุ่นยุคใหม่ในปัจจุบัน ประเด็นที่ 2 มุมมองทางจริยธรรมในการใช้สื่อโซเชียลของวัยรุ่นยุคใหม่ ปัจจุบันท่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อจริยธรรมในการใช้สื่อโซเชียลของวัยร่นยุคใหม่ และประเด็นที่ 3 เล่าถึงจริยธรรมที่ควรปลูกฝังให้คนในสังคมไทย
สำหรับกิจกรรมแลกเปลี่ยนมุมมอง/พูดคุยในประเด็นที่ 1 มุมมองที่มีต่อจริยธรรมของวัยรุ่นยุคใหม่ในปัจจุบัน เริ่มต้นโดย
รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ได้กล่าวว่า “ฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกัน คือการมีจริยธรรม กฎของการอยู่ร่วมกันในสังคม การเอาใจเขามาใส่ใจเรา นี่คือบริบทสำคัญของการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าสังคมยุคสมัยจะเลี่ยนแปลงไป แต่กฎแห่งการที่จะอยู่ร่วมกัน คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่เคยเปลี่ยนยังเป็นที่ยึดที่ถือปฏิบัติ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยไหน”
นายเอกลักษณ์ พันธะไหล ได้กล่าวว่า “จริยธรรม คือ การประพฤติการปฏิบัติที่ไม่สร้างความเดือดร้อนหรือสร้างความไม่พอใจให้กับคนในสังคมและตัวเอง”
และนายศิวกร นามนวด ได้กล่าวว่า “จริยธรรมก็หมายถึงคุณงามความดี มาตรฐานบางอย่าง ที่เป็นหลักในการดำเนินชีวิตหรือคือสิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อาทิ 1.คนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ 2.การเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน 3.การที่ไม่ละเมิดซึ่งกันละกัน”
และประเด็นที่ 2 มุมมองทางจริยธรรมในการใช้สื่อโซเชียลของวัยรุ่นยุคใหม่ ปัจจุบันท่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อจริยธรรมในการใช้สื่อโซเชียลของวัยร่นยุคใหม่
รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ได้กล่าวว่า “การใช้สื่อโซเชียล การแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ซึ่งเป็นการใช้คำพูดที่สื่อไปในทางที่ไม่ดีที่ผู้อื่นฟังแล้วรู้สึกไม่ดี การกระทำแบบนั้น หากเราเป็นคนที่ถูกกระทำเราจะรู้สึกอย่างไร ดังนั้นการที่เราไม่ชอบสิ่งใด เราไม่ควรที่จะไปทำแบบนั้นกับคนอื่น มนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน และต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน ควรจะเอาใจเขามาใส่ใจเรา จะทำอะไรให้นึกถึงใจผู้อื่นด้วย”
นายเอกลักษณ์ พันธะไหล ได้กล่าวว่า “สื่อโซเชียล เปรียบเสมือนดาบ 2 คมที่หากเราใช้อย่างไม่ระมัดระวังอาจจะเป็นตัวที่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ หากขาดการคิดไตร่ตรองที่ดี อย่างพฤติกรรมลอกเลียนแบบ ที่แพร่กระจายให้เห็นอยู่ในสื่อ ต่าง ๆ มากมาย”
และนายศิวกร นามนวด ได้กล่าวว่า การใช้สื่อในเรื่องของจริยธรรม คือ การไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของซึ่งกันและกัน ควรระมัดระวังในการใช้สื่อในเรื่องของการแสดงความคิดเห็นในทางลบในแพลตฟอร์มส่วนตัวบุคคลอื่น เพราะการที่ได้ทำอะไรลงไปในสื่อแล้วไม่สามารถที่จะลบหรือทำให้หายไปจากความทรงจำของผู้ที่ถูกกระทำได้
และประเด็นที่ 3 เล่าถึงจริยธรรมที่ควรปลูกฝังให้คนในสังคมไทย
รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ได้กล่าวว่า “สิ่งควรปลูกฝังให้คนในสังคมไทย ยกตัวอย่างในเรื่องของการชุมนุม การที่มีการชุมนุม แล้วมีข้อมูลมาสนับสนุนในการแสดงความคิดเห็นแสดงเจตนารมณ์ เป็นสิ่งที่มองแล้วมีความน่าสนใจมากกว่าการที่ชุมนุมโดยการใช้ความรุนแรงในการขับเคลื่อน ซึ่งการชุมนุมโดยปราศจากความเดือดร้อนของคนหมู่มาก การที่ไม่ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ย่อมเป็นการชุมนุมที่กระทำได้ เพื่อให้ผู้นำได้ฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนในการบริหารจัดการที่ดีขึ้น เป็นการมีจริยธรรมในการบริหารของผู้นำ”
นายเอกลักษณ์ พันธะไหล ได้กล่าวว่า “สิ่งที่ควรปลูกฝัง คือในเรื่องของการคิดไตร่ตรองการโต้ตอบ การแสดงความคิดเห็น ควรที่จะมีเหตุมีผล ควรจะคิดไตร่ตรองให้ดีก่อนในการที่จะตอบโต้หรือแสดงความคิดเห็นออกไป”
และนายศิวกร นามนวด ได้กล่าวว่า “สิ่งที่ควรจะปลูกฝัง มองเป็น 3 สิ่ง คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัติริย์ การที่จะปลูกฝังจะต้องเริ่มต้นที่ระบบการศึกษาก่อน จะต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เน้นย้ำเรื่องจริยธรรม ตั้งแต่อนุบาล จนกระทั่งระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงการปลูกฝังเรื่องสถาบันต่าง ๆที่กล่อมเกลาอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน”
และภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ได้กล่าวปิดท้ายว่า การศึกษาในระบบเป็นสิ่งสำคัญแต่การศึกษานอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิต ประสบการณ์ชีวิต เหตุการณ์ต่าง ๆที่เราต้องเผชิญ นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน การคิดไตร่ตรองถึงเหตุและผล สิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดี เป็นบทเรียนที่เราจะต้องเรียนรู้ ต้องบริหารจัดการตัวเองให้ได้ คืออยากจะฝากไว้ว่า “การศึกษานอกห้องเรียนเป็นสิ่งท้าทายและสำคัญไม่น้อยไปกว่าการศึกษาในระบบ”






























