ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมขับเคลื่อนงานเสวนาพัฒนาเมืองครั้งที่ 3 ขอนแก่น : เมืองแห่งโอกาสและประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนเมือง “ขอนแก่น สู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้”

วันที่ 25 ตุลาคม 2565 โครงการ ขอนแก่น : สู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้และยั่งยืนระยะที่ 2 ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมีบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด เป็นผู้ดำเนินโครงการ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนากลไกการขับเคลื่อนเมือง อันประกอบด้วย เทศบาลนครขอนแก่น โดย นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น, สำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่น โดย นายชาญยุทธ วันดี พาณิชย์จังหวัดขอนแก่น, สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น โดย นายพนม สิงห์สาย พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น, สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดขอนแก่น โดย นายสุภวัฒน์ หนูพริก พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น โดย ดร.กฤต. สุวรรณพรหม ศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผศ.ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร, มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า โดย นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ นายกสมาคมสื่อมวลชนและเลขาธิการมูลนิธิขอนแก่นทศวรรษหน้า, สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย จังหวัดขอนแก่น โดย นายถาวร พลีดี ผู้อำนวยการกศน.จังหวัดขอนแก่น จัดงานเสวนาพัฒนาเมืองครั้งที่ 3 ขอนแก่น : เมืองแห่งโอกาสและประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนเมือง “ขอนแก่น สู่เมืองแห่งการเรียนรู้” ขึ้น ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเมืองแบบบูรณาการระหว่างภาคีเครือข่ายและเพื่อให้จังหวัดขอนแก่นเกิดการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้มีการประสานความร่วมมือในทุกๆ ภาคส่วน เกิดการส่งเสริมการลงทุนระหว่างภาคีเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของบุคคลและส่งเสริมความร่วมมือทางสังคม ส่งเสริมการรู้หนังสือ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงความรู้ให้ทุกคนในเมืองและเพิ่มทักษะพื้นฐานแก่พลเมืองให้มีความครอบคลุมในทุกพื้นที่ รวมถึงผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางในจังหวัดขอนแก่น อีกทั้งยังสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในจังหวัดให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมต่อไป
โดยในกิจกรรมดังกล่าวได้มีการจัดเสวนาที่หลากหลายหัวข้อ อาทิ การร่วมสร้างเศรษฐกิจชุมชนและการจ้างงาน, การสร้างโอกาสสำหรับคนจนเมือง และการสร้างโอกาสสำหรับผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา
พร้อมกันนี้ยังได้มีการเชิญ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยนวัตกรรม โปรแกรมที่ 15 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมในกิจกรรมดังกล่าวด้วย โดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ได้ให้เกียรติกล่าวถึงกิจกรรมดังกล่าวว่า “ขอนแก่นคือจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ของการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่เป็นการพัฒนาที่จะเป็นต้นแบบของการประสานความร่วมมือที่นำไปสู่การสร้างเมืองให้เกิดเป็นเมืองศูนย์กลางของความเจริญ เป็นเมืองที่จะพัฒนาในเรื่องของการสร้างงาน สร้างอาชีพบนศักยภาพ บนความร่วมมือของทุกภาคส่วน วันนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะได้เห็นว่าแต่ละหน่วยงานเราจะประสานความร่วมมือกันอย่างไร เป็นบทบาทที่สำคัญและเป็นเป้าประสงค์ของการประชุมในวันนี้”
อนึ่ง การเสวนาเรื่อง “การร่วมสร้างเศรษฐกิจชุมชนและการจ้างงาน” โดย นายชาญยุทธ วันดี พาณิชย์จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เรามีหลักคิดที่จะทำให้กลุ่มเกษตรกร กับผู้ประกอบการ เกิดสมดุลทางการค้า ซึ่งอาจจะมีการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ ในการลดต้นทุนการผลิต ลดค่าครองชีพ หรือการสร้างรายได้ที่พอเพียง การค้าขายสินค้าเกษตรที่มีราคา ทำให้กลุ่มเกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน เราต้องการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ที่จะสนับสนุนเกษตรกร ในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมขยายไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้นายพนม สิงห์สาย พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การพัฒนาสินค้า OTOP เป็นการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคง โดยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างงานสร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ส่งเสริมกลุ่มอาชีพ และผู้ผลิต ผู้ประกอบการ พัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) และหรือธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) และ นายสุภวัฒน์ หนูพริก พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ในการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและการจ้างงาน ต้องทำสังคมให้ดีก่อน ดูแลประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนพิการให้มีรายได้ มีการจ้างงานผู้พิการ ผู้สูงอายุ เราก็มีกองทุนผู้สูงอายุหมุนเวียน เพื่อการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุ สนับสนุนเงินอุดหนุนโครงการเพื่อส่งเสริมกิจกรรมผู้สูงอายุในลักษณะกลุ่ม ชมรม ศูนย์บริการ ศูนย์อเนกประสงค์ในชุมชน สนับสนุนเงินอุดหนุนโครงการสำหรับองค์กรผู้สูงอายุ องค์กรที่ทำงานด้านผู้สูงอายุในชุมชน การให้ทุนประกอบอาชีพ ประเภทกู้ยืมรายบุคคล และรายกลุ่มสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น
ต่อมาการเสวนาเรื่อง “การสร้างโอกาสสำหรับคนจนเมือง” โดย นายธีระศักดิ์ ที่ฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า โอกาสทางด้านอาชีพ ทางด้านรายได้ ทางด้านสังคม ทางด้านการศึกษา เหล่านี้เป็นโอกาสของเมืองขอนแก่น คุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่เทศบาลนครขอนแก่น ถือเป็นปัจจัยหลักที่ต้องมีการพัฒนา เพื่อให้เกิดความเสมอภาค และลดความเหลื่อมล้ำ จึงต้องมุ่งเน้นเรื่องการศึกษา เกิดเป็นศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชนสร้างอาชีพที่สามารถนำไปต่อยอดหารายได้เลี้ยงตนเอง และครอบครัวได้ เป็นการเพิ่มโอกาสในชีวิตได้ทางหนึ่ง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนาเมือง เมื่อประชาชน คือผู้อาศัยในพื้นที่ มีการรับฟังความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมจึงเป็นเรื่องจำเป็น เช่นที่เทศบาลนครขอนแก่นให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเสนอความคิด ในสิ่งที่แต่ละชุมชนต้องการ อาทิ การติดตั้งกล้องวงจรปิดในชุมชน หรือการปรับปรุงถนน หรือเมื่อทราบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ให้ประชาชนเสนอแผนพัฒนาของแต่ละชุมชนออกมา เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และ ผศ.ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข. กล่าวว่า การขับเคลื่อนเมือง คงไม่ได้มีแค่ในเรื่องของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในเรื่องมิติของสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึง ผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ภาครัฐ ในการกำกับดูแลการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะ เพื่อขับเคลื่อนประเทศ พัฒนาพลังงานอัจฉริยะในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และเมืองที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เมืองที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกการอยู่อาศัย เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย และมีความสุขในการดำรงชีวิต รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนการเปิดกว้างให้กับความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของประชาชน
ต่อมาการเสวนาเรื่อง “การสร้างโอกาสสำหรับผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา” โดย ดร.กฤต สุวรรณพรหม ศึกษาธิการจังหวัด กล่าวว่า ศึกษาธิการ จะเป็นหน่วยงานที่บูรณาการเชื่อมโยงเพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มด้อยโอกาส ซึ่งได้ขับเคลื่อนงานได้รับการสนับสนุนจากกองทุน (กสศ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาปีที่แล้วจังหวัดขอนแก่นเราได้เป็นต้นแบบในเรื่องของช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบาง ซึ่งสามารถบูรณาการในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบาง เช่น การฝึกอาชีพ การมีงานทำ เป็นต้น และนายถาวร พลีดี ผู้อำนวยการ กศน. จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในส่วนของ กศน. เองก็มีการจัดการศึกษา การสร้างโอกาสการศึกษา หนึ่งเลยคือการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอีกรูปแบบหนึ่งคือการศึกษาแบบต่อเนื่องที่พัฒนาคุณภาพชีวิต ครอบคลุมในทุกประเด็น เพื่อการพัฒนาอาชีพให้กับประชาชนที่สนใจ เช่น หลักสูตรการทอผ้า และการจัดการการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน เน้นในการพัฒนาแก้ปัญหาของชุมชน เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ในเรื่องของการสร้างโอกาสทางการศึกษา โครงการเด่นเลยก็คือ โครงการ กศน.ปักหมุด เป็นโครงการเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ความสำคัญในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสมอย่างมีคุณภาพ





