ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ โปรแกรม 15 หน่วย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนิน“โครงการการพัฒนาข้อเสนอแผนการพัฒนาสกลนครสู่เมืองน่าอยู่” ในกิจกรรมเวทีเสวนา “ป่าเศรษฐกิจครอบครัว เส้นทางสู่เมืองสกลนครร่มเย็น”

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัย ภายใต้ประเด็นวิจัยที่สนับสนุนการพัฒนาเมือง ท้องถิ่น และกลไกเติบโตใหม่ และด้วยในวันที่ 11 ตุลาคม 2565 โครงการการพัฒนาข้อเสนอแผนการพัฒนาสกลนครสู่เมืองน่าอยู่ ภายใต้แผนงานการพัฒนาเมืองและกลไกการเติบโตใหม่ โปรแกรม 15 การพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แพลตฟอร์ม 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้กำหนดจัดกิจกรรมเวทีเสวนา “ป่าเศรษฐกิจครอบครัว เส้นทางสู่เมืองสกลนครร่มเย็น” ขึ้น ณ ห้องประชุมใหญ่ โรงเรียนวิถีธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายผลการดำเนินการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจครอบครัวในจังหวัดสกลนคร และเพื่อสร้างกลไกการประสานความร่วมมือของภาคีเครือข่ายเพื่อให้สกลนครเป็นเมือง “สกล นครร่มเย็น”
และด้วยความสำคัญดังกล่าว รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ในฐานะนักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมโปรแกรมวิจัย 15 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้มีการลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้า ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเมือง ท้องถิ่น และกลไกเติบโตใหม่ ที่ได้รับอนุมัติจากโปรแกรม 15 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ พร้อมนำทีมผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ดร.พรณรงค์ ชาญนุวงศ์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และทีมสนับสนุนโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองท้องถิ่น และกลไกเติบโตใหม่ (RDC) ลงพื้นที่ศึกษารูปแบบการจัดการป่าเศรษฐกิจครอบครัวในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ด้วย
สำหรับโครงการการพัฒนาข้อเสนอแผนการพัฒนาสกลนครสู่เมืองน่าอยู่ โดยการนำของ นายแพทย์สมบูรณ์ จิระวัฒนาสมกุล หัวหน้าโครงการ ได้มีการผสานความร่วมมือกับ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) หอการค้า สภาอุตสาหกรรม เกษตรจังหวัด สำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัด นายอำเภอจาก นายกเทศมนตรี และกลุ่มเครือข่ายป่าเศรษฐกิจครอบครัว ทั้ง 4 ป่า อันได้แก่ ป่าเศรษฐกิจครอบครัวบ้านโคกสะอาด ป่าเศรษฐกิจครอบครัวหนองหญ้าฮังกาน้อย ป่าเศรษฐกิจครอบครัว บ้านบะฮี บ้านนาล้อม บ้านต้นผึ้งและบ้านครึม และกลุ่มอินแปง
อนึ่ง “ป่าเศรษฐกิจครอบครัว” เป็นระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ทรัพยากรในป่าเศรษฐกิจครอบครัวเป็น ทรัพย์สินส่วนบุคคล การดูแลรักษาเป็นการลงทุนทำการเกษตรเพื่อเก็บผลผลิตจากป่าและเนื้อไม้ สาธารณะให้ ยอมรับ เคารพสิทธิ มีระเบียบประเพณีปฏิบัติที่ตราเป็นข้อบัญญัติตำบลเพื่อการรักษา ใช้ประโยชน์ และฟื้นฟู ทรัพยากรในป่าให้อุดมสมบูรณ์ และร่วมกันรักษา-สืบทอดสิทธิในที่ดิน ทรัพยากรในป่า เพื่อส่งต่อให้ลูกหลานได้ด้วยความรู้ วิธีการจัดการนิเวศป่า ได้เรียนรู้คุณค่า พัฒนาภูมิปัญญาเดิม เชื่อมโยงความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรม ปรับสู่ในโลกสมัยใหม่โดยการพื้นฟูรักษาป่า พื้นคืนความหลากหลาย ทางชีวภาพและระบบนิเวศของสรรพชีวิตทั้งมวล โดยมีการเชื่อมต่อผืนป่าและโยงใยความร่วมมือกับครอบครัวป่าใกล้เคียง มุ่งสร้างเครือข่ายขยายความร่วมมือกับรัฐ เอกชน ประชาชน เสริมแรงให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพลังงานหมุนเวียน จัดการระบบนิเวศน้ำครบวงจร (น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน น้ำฟ้า) สามารถจัดการพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตในธรรมชาติ และการเกษตร นำมาเพิ่มมูลค่า พัฒนาแปรรูปเป็น ผลิตภัณฑ์ สร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจครัวเรือนและชุมชน พัฒนาการตลาดที่หลากหลาย สร้างอาชีพ ให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนทั้งจากเนื้อไม้ สมุนไพร อาหาร พืชพรรณ สัตว์ และแมลง ดำเนินธุรกิจฟื้นฟูระบบนิเวศป่าเศรษฐกิจครอบครัวจากท้องถิ่นสู่สากล บนฐานความรู้เรื่องป่าไม้ พัฒนาการจัดการท่องเที่ยวเพื่อ สุขภาพ เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง เศรษฐกิจครัวเรือนเข้มแข็ง มีอิสระ รักษาป่าให้สมดุล รักษาพันธุกรรมท้องถิ่น เกื้อหนุนระบบนิเวศให้สมบูรณ์ ฟื้นคืนให้สุขภาพป่าดี สุขภาพคนดี(อาหาร อากาศ อารมณ์) สังคมอาทร แบ่งปันต่อคนด้วยกันและสรรพชีวิต ลดโลกร้อน ผลิตก๊าซเรือนกระจกเป็นลบ สร้างความร่มเย็นให้สกลนครและโลกของเรา ปัจจุบันโครงการป่าเศรษฐกิจครอบครัว มีพื้นที่ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอพรรณนานิคม และอำเภอกุดบาก
ด้าน นายแพทย์สมบูรณ์ จิระวัฒนาสมกุล หัวหน้าโครงการกล่าวว่า “เป้าหมายคือการอยากให้พื้นที่ทั่วประเทศไทยมีป่า 40-50% แต่ปัจจุบันสกลนครมีพื้นที่ป่าเพียงแค่ 17% เท่านั้น พื้นที่ป่าที่ชวนบ้านเป็นเจ้าของหรือเป็นที่มีเอกสารสิทธิ์ มีโฉนด นส.3 พื้นที่เหล่านี้จะเป็นพื้นที่ที่จะเพิ่มให้สกลนครมีพื้นที่สีเขียวเป็นป่าได้ตามเป้าหมายของภาครัฐต้องการ สกลนครตั้งเป้าหมายพื้นที่ป่าไว้ 50% นั่นแปลว่าพื้นที่ของรัฐที่มีอยู่สองล้านไร่ ต้องช่วยกันเติมพื้นที่ป่าให้เต็มสองล้านไร่ จากข้อมูลตอนนี้พื้นที่ของภาคประชาชน มีประมาณ 4-6 แสนไร่ ต้องเติมพื้นที่ป่าให้เป็นหนึ่งล้านไร่ให้ได้ นั่นคือเป้าหมายของโครงการของเรา”
นายแพทย์สมบูรณ์ จิระวัฒนาสมกุล กล่าวอีกว่า “อยากให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้ว่าการที่พ่อแม่ พี่น้องของเรารักษาป่าไม้ไว้นั้นมันตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านความเป็นอยู่ ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และเรายังสามารถต่อยอดและส่งเสริมเศรษฐกิจไปได้อีก พื้นที่ที่มีอยู่ตอนนี้เราต้องรักษาไว้และร่วมกันต่อยอดพื้นที่อื่น เพื่อทำให้สกลนครของเราบรรลุเป้าหมายพื้นที่ป่า 50% ให้ได้ และสิ่งที่ได้กลับมาคือสกลนครจะเป็นเมืองที่ร่มเย็นและน่าอยู่ยิ่งกว่าเดิม ”
ภายในพื้นที่เสวนาได้มีการจัดแสดงสินค้าผลผลิตจากกลุ่มป่าเศรษฐกิจครอบครัวทั้ง 4 กลุ่ม อาทิ เห็ดป่า ผักหวาน หน่อไม้สด หน่อไม้สำเร็จรูป (แกงหน่อไม้ ซุปหน่อไม้) ดอกกระเจียว กล้วย ผักหวาน กลอย ถ้วยชามจากใบไม้ หวาย กล้วยแปรรูป ต้นกล้าพันธุ์ไม้ และข้าวพื้นเมือง เป็นต้น โดยในแต่ละปีชาวบ้านสามารถสร้างรายได้จากการเก็บของป่าจำนวนมาก อาทิ ป่าเศรษฐกิจครอบครัวหนองหญ้าฮังกาน้อยกล่าวว่า ในฤดูกาลเห็ดป่าสามารถสร้างรายได้จากการขายเห็ดเฉลี่ย 50,000 บาทต่อฤดูกาล ขณะที่ในฤดูกาลผักหวาน สามารถสร้างรายได้จากการขายผักหวานเฉลี่ย 100,000 บาทต่อฤดูกาล และในฤดูกาลจักจั่น สามารถเก็บตัวจักจั่นขายได้ราว 20,000 บาทต่อคืน ตัวแทนเครือข่ายป่าเศรษฐกิจครอบครัว กล่าวว่า “ภูมิใจที่ยังคงมีป่าอยู่ สามารถทำให้คนในเครือข่ายป่าเศรษฐกิจครอบครัวหลายคนมีการกินอยู่ที่ดี สามารถนำส่งลูกเรียนจบปริญญาได้เพราะการเก็บของป่าขาย ”
ป่าเศรษฐกิจครอบครัวได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาของแต่ละพื้นไว้ดังนี้
ป่าเศรษฐกิจครอบครัวหนองหญ้าฮังกาน้อย กำหนดแผนยุทธศาสตร์ ดังนี้
- ปกปัก ป้องกัน รักษาป่าจากไฟ และการบุกรุกของคนเพื่อเก็บผลผลิตมากจนป่าเสื่อมโทรม
- การจัดการป่าครบวงจรและสมบูรณ์ 100%
- การสร้างอาชีพเสริม เช่น การเผาถ่าน การแปรรูปเห็ด
- การพัฒนาการตลาด เช่น การตลาดออนไลน์ การตลาดหน้าบ้านและการจัดส่ง
- การจัดการท่องเที่ยวป่าหนองหญ้าฮังกาน้อย เพื่อบำบัดสุขภาพคนและพื้นฟูป่า
ป่าเศรษฐกิจครอบครัวกลุ่มอินแปง หนดแผนยุทธศาสตร์ ดังนี้ - พัฒนาธุรกิจฟื้นฟูป่าแบบมืออาชีพด้วยพืชพื้นบ้านครบวงจร
- จัดการป่าเศรษฐกิจครอบครัวแต่ละแปลงเพิ่มศักยภาพการผลิต เศรษฐกิจ สุขภาวะคน และระบบนิเวศ
- เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจด้วยการจัดการเนื้อไม้
- พัฒนาการตลาดยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นสู่สากล
- พัฒนาการจัดการท่องเที่ยวฟื้นฟูสุขภาพป่า
ป่าเศรษฐกิจครอบครัวบ้านโคกสะอาด หนดแผนยุทธศาสตร์ ดังนี้ - สร้างระเบียบชุมชนสู่ข้อบัญญัติตำบลเพื่อดูแลป่าช่วยกัน
- สร้างระบบเศรษฐกิจป่าแบบครบวงจร
- พัฒนาการศึกษาเรียนรู้เรื่องป่าเศรษฐกิจครอบครัว
- สร้างประสบการณ์ภาคปฏิบัติพัฒนาเป็นนโยบายท้องถิ่น
ป่าเศรษฐกิจครอบครัว บ้านบะฮี บ้านนาล้อม บ้านต้นผึ้งและบ้านครึม หนดแผนยุทธศาสตร์ ดังนี้ - พัฒนานโยบายส่งเสริมป่าเศรษฐกิจครอบครัว
- การจัดการป่าเศรษฐกิจครอบครัวเพื่อเพิ่มผลผลิตและความยั่งยืน
- การตลาดป่าเศรษฐกิจครอบครัว
- การจัดการความรู้ป่าเศรษฐกิจครอบครัว
รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ กล่าวว่า “เป้าหมายหลักของหน่วยบริหารและจัดการทุน คือการขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายสู่ความเจริญ ลูกหลานในพื้นที่หลายคนเติบโตแล้ว ไม่สามารถทำงานในบ้านเกิดตนเอง จึงต้องย้ายเข้าไปหางานทำในเขตปริมณฑล แต่สถานการณ์ของโควิดทำให้เห็นว่าการที่ความเจริญกระจุกอยู่ในส่วนกลาง มันยิ่งทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ฉะนั้นประเด็นที่สำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้เมืองหรือพื้นที่ต่างๆเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพ บนฐานทุนของชุมชน สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งสกลนครมความแตกต่างจากเมืองอื่น โดยเฉพาะด้านการมีฐานทุนสิ่งแวดล้อม ฐานทนทางวัฒนธรรม ฐานทุนภูมิปัญญาต่างๆ ฉะนั้นหากคนในพื้นที่หันกลับมาดูของดีในพื้นที่ของตัวเองแล้วร่วมกันพัฒนาต่อยอด นี่จะเป็นทางออกและทางรอดของประเทศไทย วันนี้สิ่งที่ทุกท่านทำไม่ได้เพียงทำเพื่อตัวท่านเองและเพื่อชุมชนเท่านั้น แต่ท่านกำลังจะเป็นทางออกในยุคปัจจุบันด้านความมั่นคงทางด้านอาหารบนฐานของทรัพยากรที่เรามีอีกด้วย” อีกทั้งได้ร่วมหารือตั้งเป้าหมายร่วมกับนายแพทย์สมบูรณ์ ในการขยายเครือข่ายป่าเศรษฐกิจครอบครัวเพิ่มขึ้นอีก เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อีกต่อไป
และปิดท้ายการเสวนาด้วยการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน โดยภาชนะในการใส่อาหารในวันนี้ใช้วิธีห่อด้วยใบตองเป็นหลัก ใช้ถ้วยชามจากใบไม้ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของชาวบ้าน โดยนายแพทย์สมบูรณ์ กล่าวว่า ต้องการทำให้การจัดเวทีเสวนาวันนี้ใช้ขยะในปริมาณที่น้อยที่สุด เพื่อลดปริมาณขยะตามแนวคิด zero waste เน้นการลดขยะ การใช้ซ้ำ และการคัดแยกเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
























