ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หนุนโครงการการประสานงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมือง ท้องถิ่น และกลไกเติบโตใหม่ (RDC)

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หนุนโครงการการประสานงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมือง ท้องถิ่น และกลไกเติบโตใหม่ (RDC) ผุดแพลตฟอร์มกลางเชื่อมต่อองค์ความรู้จากนักวิจัยสู่สาธารณะชน พร้อมร่วมจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ Writing for PR & สื่อผลงานการวิจัยเพื่อสาธารณะ หวังตอบโจทย์การจัดการความรู้ และรวบรวมเป็นคลังข้อมูลกลางสำหรับนักวิจัยทุก ๆ คน
วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 08.30 – 12.00 น. โครงการการประสานงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมือง ท้องถิ่น และกลไกเติบโตใหม่ (RDC) ได้ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ Writing For PR & สื่อผลงานการวิจัยเพื่อสาธารณะ ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ภายใต้การนำของ รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมโปรแกรมวิจัย 15 และ ผศ.ดร.พัชรินทร์ พูลทวี หัวหน้าโครงการประสานงานวิจัยและสนับสนุนการพัฒนาเมือง ท้องถิ่น และกลไกเติบโตใหม่ RDC ได้เล็งเห็นความสำคัญของแพลตฟอร์มกลางที่จะใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ของนักวิจัยไปสู่สาธารณะชน โดย รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ กล่าวว่า “แพลตฟอร์มกลางนี้จะทำหน้าที่เป็นระบบสนับสนุนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยกับสาธารณชน และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงได้มีการจัดทำระบบแพลตฟอร์มกลางที่ช่วยในเรื่องการสื่อสารสาธารณะขึ้น และเชื่อว่านักวิจัยทุกท่านสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนได้อย่างยอดเยี่ยมอยู่แล้ว จึงอยากให้นำสิ่งเหล่านั้นออกมาสื่อสารต่อสาธารณะผ่านแพลตฟอร์มกลาง ซึ่งระบบแพลตฟอร์มกลางนี้ นักวิจัยสามารถออกแบบ Content ได้ตามที่ต้องการ และถือเป็นการจัดการความรู้และการรวบรวมการสกัดองค์ความรู้ มารวมไว้เป็นคลังข้อมูลในแพลตฟอร์มกลางนี้”
สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการ Writing for PR & สื่อผลงานการวิจัยเพื่อสาธารณะเริ่มต้นด้วยการบรรยายในหัวข้อ Writing For PR & สื่อผลงานการวิจัยเพื่อสาธารณะ โดย คุณสุมาลี สุวรรณกร บรรณาธิการศูนย์ข่าวเครือเนชั่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผู้จัดรายการ “สโมสรหนอนหนังสือ” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น F.M.103 MHz. อันมีสาระโดยสังเขปดังนี้
คุณสุมาลี สุวรรณกร กล่าวว่า “ข่าวคือหัวใจที่สำคัญ เพราะสามารถรายงานสิ่งที่เราทำ รายงานภารกิจของเรา รายงานความก้าวในของสิ่งที่เราทำได้ และสิ่งที่สำคัญ คือสามารถสร้างความเข้าใจของคนในองค์กรและภายนอกองค์กร รวมทั้งสามารถดึงดูดความสนใจให้คนมาสนงานเราได้ แต่หากเราไม่มีการสื่อสาร ไม่มีการประชาสัมพันธ์ ก็จะทำให้ความเข้าใจของคนที่ทำงานกับเรา และคนที่เป็น stakeholders กับเราอาจจะเข้าคลาดเคลื่อนกัน ฉะนั้นการสื่อสารจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”
จากนั้นได้มีการอบรมให้ข้อมูลลักษณะของข่าวที่ดี โดยกล่าวว่าการที่จะเป็นข่าวที่ดีนั้นต้องมีความกระชับ กระทัดรัด เขียนตรงจุด ถูกต้อง ชัดเจน และเข้าใจง่ายโดยเฉพาะการสื่อสารกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆที่สามารถเข้าถึงได้รวดเร็ว หากข่าวนั้น ไม่ชัดเจนเข้าใจยาก ไม่กระชับ ก็จะไม่สามารถดึงดูดความสนใจผู้อ่านได้
ทั้งนี้ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของข่าว ซึ่งถือเป็นหัวใจของการเขียนข่าว ว่าต้องประกอบไปด้วยหลัก “5 W 1 H” นั่นคือ Who ใครคือบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้อง What ทำอะไร เกิดอะไรขึ้น Where ที่ไหน การกระทำหรือเหตุการณ์นั้นWhen เมื่อไรการกระทำหรือเหตุการณ์ Why and How ทำไมและอย่างไร และกล่าวต่อไปยังโครงสร้างการเขียนข่าว ที่ประกอบไปด้วย
- พาดหัวข่าว (Headline/Title) เป็นการบอกประเด็นสำคัญของข่าว ต้องเขียนให้กระชับน่าสนใจ เพื่อดึงดูให้ผู้อ่านเข้ามาอ่านเนื้อหาข่าว
- ความนำหรือโปรย (Lead) เป็นประเด็นสำคัญของเรื่อง โดยผู้อ่านจะสามารถรู้ในเวลารวดเร็วว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพื่อสร้างความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
- ส่วนเชื่อมโยง (Neck) เป็นส่วนประกอบที่โยงความสัมพันธ์ระหว่างวรรคนำกับเนื้อหา ความยาวขึ้นอยู่กับเนื้อหา
- เนื้อเรื่องหรือเนื้อข่าว (Body) เป็นส่วนประกอบที่ให้รายละเอียดของเหตุการณ์
- ทิ้งท้ายข่าว เป็นการสรุปประเด็นเพื่อดึงดูดความสนใจตอกย้ำจุดหมาย
จากนั้นเป็นการบรรยายในหัวข้อ เทคนิคการเผยแพร่ข้อมูลและการสื่อผลงานการวิจัยเพื่อสาธารณะ โดย คุณอภิเชษฐ์
บุญจวง นักเทคโนโลยีสารสนเทศชำนาญการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
คุณอภิเชษฐ์ ได้บรรยายชี้แจงวิธีการเข้าใช้งานเว็บไซต์ https://cdrdc.org/th โครงการประสานงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองท้องถิ่นและกลไกเติบโตใหม่ ที่จะเป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับอัพเดทข่าวสารงานวิจัยของนักวิจัยทุกคน
โดยคุณอภิเชษฐ์ บุญจวง ได้มีการอธิบายรายละเอียดการเข้าใช้งานเว็บไซต์เพื่ออัพเดทข้อมูลข่าวสารที่นักวิจัยต้องการเผยแพร่สู่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการวิจัย ข่าวสารการวิจัย ผลงานหรือกิจกรรมต่างๆ ที่นักวิจัยประสงค์ที่จะนำเสนอให้สาธารณชนได้รับรู้
และภายหลังการบรรยายเสร็จสิ้น หน่วย บพท. โดย รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมโปรแกรมวิจัย 15 ยังได้มอบหมายให้ทีมนักวิจัยที่เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ Writing for PR & สื่อผลงานการวิจัยเพื่อสาธารณะทดลองนำเทคนิคที่ได้จากการบรรยายไปใช้ในการเขียนข่าวกิจกรรมของโครงการวิจัย และทดลองอัพเดทข่าวดังกล่าวลงบน เว็บไซต์ https://cdrdc.org/th เพื่อให้ทีมนักวิจัยได้ฝึกใช้งานเว็บไซต์และเพื่อเตรียมความพร้อมอัพเดทข่าวเองต่อไปในอนาคต




































https://opcsmartcity.org/wp-content/uploads/2022/10/Cdrdc-Present-06-10-2022.pdf