OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ การประชุมสรุปผลการดำเนินงานการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์การนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้

โครงการ “การติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์การนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้” ถือเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วยกระบวนการขับเคลื่อนทางสังคม เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน นักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ ผู้บริหารทางการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย ข้าราชการตำรวจทหาร บุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ให้เข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต เพื่อนำไปสู่คุณภาพสังคมที่ดีมีคุณภาพของประเทศในอนาคตต่อไป โดยในวันที่ 26 กันยายน 2565 ทางโครงการฯ ได้จัดการประชุมสรุปผลการดำเนินงานวิจัยและประเมินผลพฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต และประเมินผลสัมฤทธิ์ในการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา “Research Finding & Conclusion Meeting on Thai Children and Youth Honesty/Integrity Assessment and an Evaluation of the Implementation of the NACC’s Anti-Corruption Education Program” ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเวลา 9.00-12.00น. ขึ้นในรูปแบบการประชุมทางไกล Video Conference ด้วยระบบ ZOOMซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จากผู้ที่ได้นำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาบุคลากร

สำหรับพิธีเปิด ได้รับเกียรติจาก ผู้อำนวยการสำนักต้านทุจริตศึกษา นางสวรรยา รัตนราช กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมและกล่าวถึง “พัฒนาการของการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์การนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้” อันมีใจความพอสังเขปดังนี้ “จากยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการปราบปรามทุจริตระยะที่ 3 พ.ศ.2560 – 2564 
มุ่งเน้นให้ความสำคัญในกระบวนการปรับสังคม ให้เกิดภาวะไม่ทนต่อการทุจริต นำไปสู่การจัดทำหลักสูตร
ต้านทุจริตศึกษา ( Anti – Corruption Education) โดยได้พัฒนาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา 5 หลักสูตร หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรอุดมศึกษา หลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ หลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช. / บุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ และหลักสูตรโค้ช โดยมีเนื้อหา 4 ชุดวิชา ประกอบด้วย 1) การคิดแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม 2) ความอายและความไม่ทันต่อการทุจริต 3) STRONG : 
จิตพอเพียงต้านทุจริต 4) พลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม ในปี 2564 มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ศึกษาพัฒนานวัตกรรมการประเมินแบบมีส่วนร่วม collaborative assessment management platform โดยใช้ระบบ 
Thai Youth Integrity พบว่าเด็กและเยาวชนไทยที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 52.1 เพื่อให้ครอบคลุม
ทุกมิติ ในปี 2565 มีการนำผลสัมฤทธิ์หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้ทั้ง 5 หลักสูตร รวมทั้งประเมินพฤติกรรมที่ยึดมั่นถือมั่นความซื่อสัตย์สุจริต และเยาวชนไทยในหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้ง 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรอุดมศึกษา พร้อมทั้งประเมินความรู้ เจตคติ และลักษณะที่พึงประสงค์ ผู้ผ่านการอบรมทั้ง 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรตามแนวทางรับราชการ กลุ่มทหารและตำรวจ หลักสูตรสร้างวิทยากรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต และหลักสูตรโค้ชเพื่อการรู้คิดต้านทุจริต เป็นผลสัมฤทธิ์ที่สะท้อนอย่างเป็นรูปธรรม”

กล่าวเปิดการประชุมฯ โดย นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันมีใจความ
พอสังเขปดังนี้ “ผมรู้สึกยินดีที่ได้รับเกียรติที่ได้เป็นประธานในการเปิดการประชุมสรุปผลการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์การนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้ในวันนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. และภาคีเครือข่ายและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาทั้ง 5 หลักสูตรขึ้น โดยความร่วมมือ
จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผ่านการใช้ระบบ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ในการประเมิน  ซึ่งทุกท่านจะได้รับทราบการค้นพบจากงานวิจัย รวมทั้งจะนำผลวิจัยไปปรับปรุงและพัฒนา ให้ข้อเสนอแนะทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติต่อไป”

ในลำดับต่อมาได้มีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” โดย นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.  กล่าวว่า “แผนแม่บทประเด็น
ที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยให้ความสำคัญต่อการปรับและหล่อหลอมพฤติกรรมทุกกลุ่ม
ในสังคมให้มีจิตสำนึกและมีพฤติกรรมยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ผ่านหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ประถมวัยจนถึงอุดมศึกษาและหลักสูตรการฝึกอบรม ประกอบด้วย 1) หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รายวิชาเพิ่มเติม การป้องกันการทุจริต) 2) หลักสูตรอุดมศึกษา (วัยใส ใจสะอาด“Youngster with good heart”) 3) หลักสูตรตามแนวทางรับราชการ กลุ่มทหารและตำรวจ 4) หลักสูตรสร้างวิทยากรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต 
5) หลักสูตรโค้ชเพื่อการรู้คิดต้านทุจริต ผมคิดว่าการสำรวจหลักสูตรการต้านทุจริตจะมีการวิเคราะห์ ปรับปรุง 
เพื่อแก้ไขและมีแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น”

จากนั้นเป็นการ นำเสนอผลการดำเนินงานการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์การนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้ โดยคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ พร้อมด้วย ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ ดร.วชิราวุธ ธรรมวิเศษ ผศ.ดร.จตุภูมิ เขตจัตุรัส รศ.ดร.สุพรรณี อึ้งปัญสัตวงศ์ รศ.วิลาวรรรณ พันธุ์พฤกษ์ ผศ.ดร.พัชรินทร์ พูลทวี รศ.ดร.ศรุดา สมพอง อันมีใจความพอสังเขปดังนี้ “ผลสัมฤทธิ์การนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้ มีการประเมินจากบริบทสภาวะแวดล้อม (Context) ขณะเดียวกันได้คำนึงถึงปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) และผลลัพธ์ (Output) สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ผู้ให้ข้อมูลหลัก และเครื่องมือการวิจัย ในหลักสูตรการเรียนการสอน รวมทั้งสิ้น 127,762 คน หลักสูตรการฝึกอบรม รวมทั้งสิ้น 1,444 คน ซึ่งการรวบรวมข้อมูล กำกับติดตามประเมินผลใช้แพลตฟอร์ม Thai Youth Integrity ในขณะที่ผลสัมฤทธิ์การนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้ 5 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รายวิชาเพิ่มเติม การป้องกันการทุจริต) คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 78.61  หลักสูตรอุดมศึกษา (วัยใส ใจสะอาด“Youngster with good heart”)  คะแนนเฉลี่ย 62.01 หลักสูตรตามแนวทางรับราชการ กลุ่มทหารและตำรวจ คะแนนเฉลี่ย 78.21 หลักสูตรสร้างวิทยากรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต คะแนนเฉลี่ย 78.45 และหลักสูตรโค้ช คะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับดีมาก คือ 81.59”

ด้าน ผศ.ดร.จตุภูมิ เขตจัตุรัส กล่าวต่อว่า “การเปรียบเทียบหลักสูตรต้านทุจริตศึกษากับกรณีวิจัยของต่างประเทศ พบประเด็นสำคัญที่นำมาพิจารณาร่วมกับการผลประเมิน ข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากการสัมภาษณ์เชิงลึก มี 5 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่1 ความชัดเจนในเชิงนโยบายการต่อต้านทุจริต ประเด็นที่2 การมอบอำนาจให้กับผู้เรียน/กลุ่มเป้าหมายในการร่วมออกแบบหลักสูตร ประเด็นที่3 กิจกรรมอิสระสร้างสรรค์เป็นฐานสำคัญของการพัฒนา ประเด็นที่4 ความร่วมมือรวมพลังทุกภาคส่วน และประเด็นที่ 5 เนื้อหาและกิจกรรมของหลักสูตรที่คำนึงถึงบริบทของแต่ละพื้นที่ที่มีความต่างกัน”

ในลำดับต่อมาตัวแทนแต่ละหลักสูตร ได้ดำเนินการสะท้อนผลวิจัย Research Reflection: “ปัจจัยความสำเร็จและเงื่อนไขสำคัญของการดำเนินการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” โดย นายธีริทธิ์ อิ่นคาผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ลากเนินทอง  ซึ่งเป็นตัวแทนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน อันมีความโดยสังเขปดังนี้ “ปัจจัยความสำเร็จมีอยู่ 4 ปัจจัย ประกอบด้วยปัจจัยที่1 การบริหารจัดการสถานศึกษา มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สร้างนวัตกรรมให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ชัดเจน ปัจจัยที่2 ผู้บริหารให้ความสำคัญต่อหลักสูตรการนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้ ปัจจัยที่3 ครูผู้สอนมีคุณสมบัติที่
พึงประสงค์ สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนได้ ปัจจัยที่4 นักเรียนถูกถ่ายทอดและปลูกฝังความคิดที่ต่อต้านการทุจริตในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นในส่วนของการจัดการศึกษายังได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนผ่านการเสนอความคิดเห็น กิจกรรมประชุมผู้ปกครอง”

รศ.ดร.กตัญญู แก้วหานาม ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ นำเสนอว่า “นโยบายของผู้บริหารสถานศึกษาให้ความสำคัญในการนำไปปฏิบัติ และบรรจุรายวิชาในหลักสูตรโดยเฉพาะในรายวิชาพื้นฐาน สอดแทรกในรายวิชาต่างๆ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ได้จัดทำหลักสูตร “เสริมแรงหลักต้านทุจริตศึกษาในอนาคต” โดยตัวอย่างหลักสูตร คือ การพัฒนาบุคลากรด้านคุณธรรม จริยธรรม การป้องกันการทุจริต จังหวัดกาฬสินธุ์ (Certificate of Integrity For Corruption Prevention and Resistance ICPR) ซึ่งปัจจัยความสำเร็จและเงื่อนไขสำคัญของการดำเนินการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา คือ ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ 
เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน”

พ.ต.ท.ปฏิณญา วิเชฏฐพงษ์ ตัวแทนหลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ นำเสนอ  Research Reflection:  “ปัจจัยความสำเร็จและเงื่อนไขสำคัญของการดำเนินการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” มีเนื้อหา ดังนี้ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายหลักให้ทุกภาคส่วนมุ่งเน้นการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ถึงภัยของการใช้อำนาจโดยมิชอบที่จะนำไปสู่การทุจริต และเคร่งครัดในการใช้กฎหมาย พร้อมทั้งเสริม ความเข้มแข็งด้านจิตใจ อาทิ ด้านศีลธรรม คุณธรรม และความพอเพียง ที่สำคัญผู้เข้ารับการอบรมได้ตระหนักถึงภัยที่ร้ายแรงต่อสังคม คือ การทุจริตคอร์รัปชัน”

และในลำดับสุดท้าย นำเสนอวิจัย Research Reflection: “ปัจจัยความสำเร็จและเงื่อนไขสำคัญของการดำเนินการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” โดย นายสมภพ ทรัพย์สมบูรณ์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มประสานการป้องการทุจริต ภาค2 สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค2 และ ตัวแทนหลักสูตรโค้ช อันมีความโดยสังเขปดังนี้ “เงื่อนไขสำคัญของการดำเนินการใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา 
1. ต้องมีความแน่วแน่ รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จัดทำแผน
บูรณาการร่วมกัน 2. มีการปราบปรามการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษโดยไม่เลือกปฏิบัติ 3. สร้างระบบป้องกัน ปิดโอกาสการโกง 4. มีการลงทุนกับการพัฒนาการศึกษา และการสร้างจิตสำนึกให้คนในชาติ ได้ตระหนักถึงภัยร้ายที่เกิดขึ้นจากการทุจริต”