หน่วยบริหารจัดการทุนเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ (บพท.) เจ๋ง! ดันพะเยาเข้าสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลกขององค์การยูเนสโก ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรม

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา เมืองพะเยาได้รับการรับรองจากกองค์การยูเนสโกเข้าสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Global Network of Learning Cities) อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยพะเยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา เทศบาลเมืองพะเยา ชุมชนพะเยา และหน่วยบริหารจัดการทุนเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ (บพท.) ซึ่งได้ร่วมกันผลักดันโครงการพัฒนาเมืองในมิติต่าง ๆ เพื่อยกระดับการเรียนรู้และกลไกทางเศรษฐกิจของเมืองให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนบนฐานของการใช้องค์ความรู้ท้องถิ่นและความร่วมมือในระดับพื้นที่เป็นตัวกลางขับเคลื่อนการพัฒนา สร้างรายได้ และความสุขให้กับคนพะเยาได้อย่างยั่งยืน
การผลักดันให้เมืองพะเยาให้ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโกอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัยในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย ที่จะต้องก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกความร่วมมือในระดับพื้นที่ ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีในท้องถิ่น และนำเอาองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้ของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจหรือแก้ไขปัญหาของพื้นที่ในบริบทต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังเช่น กรณีของมหาวิทยาลัยพะเยาที่ได้ก้าวเข้าไปเป็นแกนนำสำคัญขับเคลื่อนโครงการ Phayao Learning City และผลักดันให้เมืองพะเยาสมัครเข้ารับการพิจารณาเพื่อเป็นภาคีเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Global Network of Learning Cities) มาตั้งแต่ 21 พฤศจิกายน 2564 จนกระทั่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา พร้อมกับเมืองอื่น ๆ อีก สองแห่ง คือ สุโขทัย และหาดใหญ่
การได้รับการรับรองให้เป็นภาคีเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Global Network of Learning Cities) นั้น นำมาซึ่งโอกาสในการยกระดับเพื่อพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจและการจัดการเมืองพะเยาในด้านต่าง ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทาง เทคโนโลยี และเทคนิคในการพัฒนาเมืองจากกลุ่มผู้นำหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองระดับโลก รวมถึงโอกาสในการได้รับการสนับสนุนทุน องค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนบุคลากร หรือการประสานความร่วมมือกับเมืองอื่น ๆ ในต่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การศึกษา หรือการพัฒนาเมืองด้านอื่น ๆ ของพะเยาในอนาคต นับเป็นโอกาสและความสำเร็จที่น่าติดตามต่อไปว่าเมืองพะเยาจะก้าวเดินและขับเคลื่อนการพัฒนาไปในทิศทางใด