
ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดสรรทุนวิจัย 15 ล้าน นำทัพเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย จับมือกับธนาคารโลก (World Bank) ประกาศหมุดหมายใหม่จัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ หวังปลดล็อคขีดความสามารถทางการเงินและพัฒนากลไกการระดมทุนใหม่เพื่อนำมาใช้ขับเคลื่อนการเติบโตและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้นำทีมเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำหลักของภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศไทย 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยบูรพา ระดมความร่วมมือกับธนาคารโลก (World Bank) ประกาศเจตนารมณ์ในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินและกลไกการระดมทุนใหม่เพื่อนำมาใช้ในพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับหัวเมืองหลักทั่วประเทศไทย 5 เมือง ได้แก่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ระยอง และนครสวรรค์ โดยมุ่งหวังให้กลไกการพัฒนาเมืองที่มีอยู่ในพื้นที่ในเมืองเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น บริษัทพัฒนาเมือง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในพื้นที่ ได้มีบทบาทในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการลงทุนใหม่ให้กับเมืองร่วมกัน เพื่อให้กลไกการพัฒนาเมืองที่มีอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ มีขีดความสามารถทางการเงินและการลงทุนที่สูงขึ้นด้วยศักยภาพของกลไกในระดับพื้นที่เองและลดการพึ่งพางบประมาณจากรัฐให้น้อยลง เพราะที่ผ่านมา การจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ของเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ยังมีข้อจำกัดทางการเงินอยู่มากและพึ่งพางบประมาณของรัฐเป็นหลัก ดังนั้น ปัญหาและความต้องการของคนในที่จึงถูกประวิงเวลาเอาไว้เพียงเพราะเหตุแห่งข้อจำกัดด้านงบประมาณ ส่งผลให้ความเจริญของเมืองถูกทอดเวลาออกไปให้ยืดยาวขึ้น ไม่ทันกับยุคสมัยและความต้องการของพื้นที่ ดังนั้น การแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อจัดการกับข้อจำกัดทางการเงินเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาเมืองจึงเป็นประเด็นเร่งด่วนมากต่อประเทศไทย ดังที่ นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. กล่าวว่า
“…การพัฒนาพื้นที่นับจากนี้ไปจะมุ่งการงบประมาณรัฐได้น้อยลง เพราะประเทศต้องฟืนฟูหลายด้านหลังโควิด แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ช่วยตัวเองไม่ได้ ตอนนี้ประชาชนมีความเข้มแข็งและมีความพร้อม บพท. จึงเห็นว่า เรารอไม่ได้ ต้องหาทางออกให้กับประเทศ…ถ้าประเทศแก้จุดนี้ได้ จะเกิดระบบทุนเพื่อพัฒนาเมือง ช่วยให้เมืองต่าง ๆ ขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่จะเป็นการสะสมปัญหา จนอาจจะเป็นต้นแบบไปสู่ประเทศอื่น ๆ ต่อไป…”
ดังนั้น ใน วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่าน บพท. จึงได้นำทีม 5 มหาวิทยาลัยและธนาคารโลก ยกระดับขีดความสามารถทางการเงินให้กับเมืองร่วมกัน จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขึ้น ระหว่างผู้แทนของ บพท. มหาวิทยาลัย และธนาคารโลก ณ ห้องสารสิน อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.เบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย พร้อมกับผู้แทนจาก บพท. นำโดย รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม และ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
รศ.ดร. ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วย บพท. ได้สะท้อนให้เห็นว่า ความร่วมมือกันที่ บพท. ได้ประสานและเหนี่ยวนำให้เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่มหาวิทยาลัยและธนาคารโลกได้มาจับมือแก้ไขปัญหาทางการเงินให้กับประเทศไทย เพราะในปัจจุบันเมืองต่าง ๆ กำลังเผชิญกับข้อจำกัดด้านงบประมาณอย่างมาก ซึ่งปิดกั้นโอกาสที่จะได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมให้กับเมือง ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ บพท.มีความคาดหวังอย่างมากว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยให้ดีขึ้น
เช่นเดียวกับ ดร.เบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ก็มองว่าในปัจจุบันกำลังเกิดการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วภายนอกกรุงเทพมหานคร แต่เมืองเหล่านี้กำลังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการขยายตัวสู่ความเป็นเมือง ซึ่งธนาคารโลกมองว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะทำให้เมืองเหล่านี้มีทางเลือกในการพัฒนาเมืองที่ดีขึ้นได้ สอดคล้องกับ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มองว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้ดีขึ้น
ในส่วนของ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ในฐานะรักษาการนักวิจัยประจำศูนย์ฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมโปรแกรมวิจัย 15 หน่วย บพท. และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สะท้อนให้เห็นว่า แนวทางการพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมา เน้นการพัฒนาอยู่ที่กรุงเทพ ฯ เป็นศูนย์กลางหลัก ทำให้การจัดสรรทรัพยากรและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างไม่สมดุล ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการพัฒนาประเทศในหลาย ๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม หน่วย บพท. มองว่า นโยบายที่เน้นกระจายการพัฒนาไปสู่ระดับภูมิภาคจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุล ทั่วถึง และยั่งยืน หากการพัฒนาที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือของกลไกในระดับพื้นที่ อันเป็นมูลเหตุที่ทำให้ บพท. ริเริ่มกิจกรรมความร่วมมือในวันนี้ขึ้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนงานการขับเคลื่อนหลักของโปรแกรมวิจัยที่ 15 เมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์ลางความเจริญ
ที่ผ่านมา บพท. ได้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างกลไกการพัฒนาเชิงพื้นที่ใหม่ ๆ ขึ้นในประเทศไทย เช่น กลไกกฎบัตร หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไก “บริษัทพัฒนาเมือง” ซึ่งเป็นที่ยอมรับและกำลังขยายตัวอย่างกว้างขวางครอบคลุม 20 จังหวัดทั่วประเทศไทย สอดรับกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ ที่มุ่งให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของพื้นที่มากขึ้น ดังนั้น ความร่วมมือที่ บพท. ได้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในการหาแนวทางเพื่อปลดล๊อคข้อจำกัดทางการเงินของกลไกการพัฒนาเมืองในระดับพื้นที่ให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย หน่วย บพท. โปรแกรมที่ 15 จะสนับสนุนทุนวิจัย จำนวน 15 ล้านบาท ให้กับเครือข่ายมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเพื่อทำงานร่วมกันกับธนาคารโลก ภายใต้โครงการวิจัย “การประเมินแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเมือง” ซึ่งการจัดสรรทุนวิจัยของ บพท. ให้กับมหาวิทยาลัยในไทยเพื่อทำงานร่วมกันกับธนาคารโลกดังกล่าวนี้ นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. กล่าวว่า “…บพท. หวังว่า งานวิจัยชินนี้จะช่วยปลดล๊อคการพัฒนาในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยให้สามารถเติบโตอย่างทั่วถึงไปพร้อม กันและความเหลื่อมล้ำเชิงการพัฒนาระดับพื้นที่ก็จะลดลงในที่สุด…”









