ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ ธนาคารโลก (The World Bank) จับมือมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ในฐานะขุมพลังความรู้ของพื้นที่ และเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับเมืองของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าเมืองเป้าหมายในการจัดหาเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ผลจากการเจรจาความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง ผู้บริหารของธนาคารโลก (The World Bank) โดย Dr. Birgit Hansl ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (Country Manager for World Bank Thailand) และ Mr. Barjor Mehta หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านเมือง (Lead Urban Specialist) กับ รศ.ดร. ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมโปรแกรมวิจัย 15 หน่วย บพท. และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักวิจัยโครงการประเมินแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น อันมี ศาสตราจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. และหน่วย บพท. ได้เล็งเห็นว่าหน่วยงานของตน ต่างมีพันธกิจ เป้าหมาย ความสนใจ และกิจกรรมทางวิชาการที่สอดคล้องตรงกัน จึงได้ตกลงให้มีการทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding-MOU) และจัดให้พิธีลงนามอย่างเป็นทางการ ขึ้น
การลงนาม MOU ครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือทางวิชาการของทั้ง 2 หน่วยงาน คือ ธนาคารโลก (The World Bank) และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่างเป็นทางการ ที่ทั้ง 2 หน่วยงาน ต่างมีวิสัยทัศน์และจุดร่วมที่ตรงกัน คือ ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นในฐานะขุมพลังความรู้ของพื้นที่ และเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับเมืองของประเทศไทย และคาดหวังว่าการเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในการดำเนินการวิจัยร่วมกันในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างองค์ความรู้ เสริมสร้างศักยภาพความสามารถในการลงทุนของเมือง ดึงดูดและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะอื่น ๆ ในเมืองขอนแก่น รวมถึงเมืองเป้าหมายในการวิจัย ได้แก่ ภูเก็ต ระยอง เชียงใหม่ และนครสวรรค์ และถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ไปสู่เมืองอื่น ๆ ของประเทศไทยในอนาคต
ด้าน Dr. Birgit Hansl ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (Country Manager for World Bank Thailand) กล่าวถึงความสำคัญของลงนามในสัญญาการให้บริการให้คำปรึกษา (RAS) ว่า ในปัจจุบัน เมืองต่าง ๆเผชิญข้อจำกัดด้านงบประมาณและศักยภาพ ซึ่งปิดกั้นโอกาสที่จะได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมและสร้างเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่ ซึ่งภายในปี 2593 มีการคาดการณ์ว่าร้อยละ 67 ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเมือง โดยในเอเชีย ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองจะมีแนวโน้มมากขึ้นถึงร้อยละ 61 และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมืองที่มีการจัดการอย่างดีจะทำให้เมืองมีลักษณะเอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีการดูแลคนทุกกลุ่มในสังคมมากขึ้น มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น และขณะนี้มีพื้นที่เมืองกำลังผุดขึ้นมาภายนอกกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเมืองเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงต้นของการพัฒนาเมือง ธนาคารโลกประจำประเทศไทย หวังว่าความร่วมมือนี้จะทำให้เมืองเหล่านี้ได้มีทางเลือกในการพัฒนาเมืองของตนได้ดียิ่งขึ้น และสร้างโอกาสให้กับประชากรในพื้นที่
รศ.ดร. ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าว “เราหวังว่าความร่วมมือกับธนาคารโลกครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดดังกล่าวและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น”
ความร่วมมือนี้จะสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างธนาคารโลก นักวิจัยชาวไทย สถาบันภาครัฐและเอกชนที่สำคัญ ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากห้าเมืองในโครงการจัดหาเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับเมือง โดยมีองค์ประกอบสำคัญคือ (1) การร่วมวิจัยบริบทของแต่ละเมืองและการเปรียบเทียบกับแนวปฏิบัติทั่วโลก และ (2) การหารือและสะท้อนมุมมองของนักลงทุนและนักการเงินระหว่างประเทศ เพื่อระบุประเด็นปัญหา ข้อจำกัด และทางออก
ด้าน รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมโปรแกรมวิจัย 15 หน่วย บพท. และในฐานะผอ.ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วปท.มข. กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้น ด้วยมีสาระสำคัญจากประเด็นดังต่อไปนี้ ประเด็นที่หนึ่ง การพัฒนาที่ผ่านมาส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญ คือทำอย่างไร ถึงจะทำให้เกิดการกระจายศูนย์กลางความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้แต่ละภูมิภาคเป็นแหล่งของการสร้างงาน แล้วยยกระดับชีวิตของประชาชนดีขึ้น และครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ ประเด็นที่สอง เนื่องจากสถานการณ์ของความเป็นเมืองมีแนวโน้มขยายใหญ่ขึ้น และเป็นสภาวการณ์ที่เรียกว่าเป็น Global trend แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็คือเรื่องของการกระจายตัวแบบไร้ทิศทางที่เรียกว่า “การเติบโตของเมืองที่ไร้ทิศทาง” ทำให้เกิดปัญหาเชิงระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจราจร การจัดการขยะ ภาวะมลพิษ การใช้ที่ดินผิดประเภท จึงเป็นประเด็นที่สำคัญ ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการพัฒนาเมืองจึงเป็นยุทธศาสตร์ หรือเป็นทางเลือกที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้บรรจุในแผนแม่บท บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
แต่ในขณะที่ภายใต้เหตุผลหรือโครงสร้างของประเทศไทยที่มีการรวมศูนย์โอกาสที่จะการกระจายโอกาสอยู่เพียงบางพื้นที่ จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดการกระจายโอกาสสู่ภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ประชาชนในแต่ละภาคไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรัฐ เอกชน ภาคประชาชน ได้ร่วมกันสร้างนวัตกรรมในการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง ซึ่งโปรแกรมที่ 15 การพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ ที่ผ่านมาได้ดำเนินการผ่านกลไกอยู่ 4 กลไก ก็คือเรื่องของการประสานความร่วมมือทางสังคม วันนี้คือผลพวงของการขับเคลื่อนกลไกในเรื่องของการประสานความร่วมมือทางสังคม ก็คือทำให้เกิดกลไกการพัฒนาเมือง ยกตัวอย่างเช่น บริษัทพัฒนาเมือง ขอนแก่นพัฒนาเมือง เชียงใหม่พัฒนาเมือง ภูเก็ตพัฒนาเมือง ซึ่งตอนนี้กระจายไปมากกว่า 22 เมือง กลไกภาคประชาสังคมอื่นๆ รวมทั้งการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและเมือง จึงเป็นกลไกการประสานความร่วมมือ มีเรื่องของชุดข้อมูลความรู้ ผลักดันให้เกิดข้อมูลความรู้แบบเปิดที่ทำให้ประชาชนได้รับรู้และขณะเดียวกันนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม เกิดแผนการลงทุน เกิดเครื่องมือทางการเงิน สิ่งที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนต่อไปนี้ ก็คือเรื่องของการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนฟิสิกส์ หรือ physical investment โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในแต่ละเมือง เพราะฉะนั้นภายใต้บริบทของระบบงบประมาณที่จำกัดภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ที่เกิดขึ้น คำถามก็คือ เราจะกระตุ้นให้เกิดความสามารถในการลงทุนในระดับพื้นที่ได้อย่างไร ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของโปรแกรมที่ 15 การพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ ในขณะเดียวกันก็เป็นนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาในภูมิภาคเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยพื้นที่ เพราะถือว่ามหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยพื้นที่เป็นโครงสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนานวัตกรรมในแต่ละพื้นที่
เพื่อเป็นการปลดล็อคข้อจำกัดในการกระตุ้นความสามารถในการลงทุน และขณะเดียวกันตอบสนองนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.). โปรแกรมที่ 15 การพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ จึงได้ทาบทามมหาวิทยาลัยขขอนแก่น เป็นองค์กรหลักในการพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย ดำเนินโครงการที่เรียกว่า การประเมินแหล่งลงทุนสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเมืองซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ 5 เมือง คือ ขอนแก่น เชียงใหม่ นครสวรรค์ภูเก็ต ระยอง และทำงานร่วมกับธนาคารโลกซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในเรื่องของเครื่องมือทางการเงินในรูปแบบต่างๆเพราะฉะนั้นนี่คือเจตนารมณ์
ด้าน รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
ได้กล่าววัตถุประสงค์และที่มาของความร่วมมือ “มหาลัยขอนแก่นทำหน้าที่เป็นองค์กรภาคีหลักร่วมกับธนาคารโลก ในการเชื่อมโยง 5 พื้นที่เป้าหมายได้แก่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ระยอง และนครสวรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาบริบทและประเมินแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในระดับประเทศเพื่อส่งเสริมการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อส่งเสริมการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมือง อาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ในการผลักดันกิจการเมืองที่ส่งผลต่อการลงทุนโครสร้างพื้นฐานของเมือง
ปิดท้ายกิจกรรม รองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้เกียรติ กล่าวขอบคุณธนาคารโลก world bank ที่ทำงานร่วมกันมา และถือว่าการทำงานร่วมกันในฐานะหุ้นส่วนและเครือข่ายภาคีนี้จะเป็นการก้าวผ่านข้อจำกัดในการพัฒนาพื้นที่พัฒนาเมืองในเชิงหุ้นส่วนในการทำวิจัยร่วมกับธนาคารโลก ซึ่งจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยในฐานะผู้นำความรู้ของพื้นที่ และเป็นบทบาทสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับเมืองของประเทศไทย โดยคาดหวังว่าการเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในการดำเนินการวิจัยร่วมกับธนาคารโลกในครั้งนี้จะเป็นการสร้างองค์ความรู้และเสริมสร้างศักยภาพความสามารถในการลงทุนของเมือง ส่งเสริมการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของเทศได้เป็นอย่างดี
สำหรับ โครงการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. และหน่วย บพท. ให้บริการการให้คำปรึกษาโดยมีค่าตอบแทน (Reimbursable Advisory Services (RAS)) ของธนาคารโลก ทั้งนี้ ธนาคารโลกมีบริการให้คำปรึกษาในลักษณะดังกล่าว กับประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูงตามการร้องขอของประเทศนั้นๆ โดยอาจจะอยู่ในรูปแบบ การศึกษา วิจัย และการสนับสนุนการดำเนินโครงการ
อนึ่ง ธนาคารโลกมีความร่วมมือกับประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 70 ปี ในช่วงแรก ธนาคารโลกให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยตรงสำหรับการพัฒนาในประเทศไทยโดยมุ่งเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน เขื่อน การชลประทาน การผลิตไฟฟ้า รถไฟ และท่าเรือ ซึ่งล้วนช่วยกระตุ้นกิจกรรมการผลิตและการค้าในประเทศ ปัจจุบัน ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่มีพลวัตรด้านการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประโยชน์จากความร่วมมือกับธนาคารโลกจะไม่ใช่แต่เพียงด้านการเงินเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงบริการให้คำปรึกษาและการศึกษาวิจัยจากธนาคารโลกอีกด้วย




















