องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เชิญ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นักวิจัย ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น Operations and Promotion Center for Livable Smart City Development (OPSCD COLA KKU) ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ หน่วยบริหารและจัดการทุนระดับพื้นที่ (บพท.)บรรยายกรอบการให้ทุนอุดหนุนวิจัยกับการพัฒนางานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ท้องถิ่นเสริมพลังวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเทศไทย

วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2566 เวลา 10.00-12.00 น. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ บพท. เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “กรอบการให้ทุนอุดหนุนวิจัยกับการพัฒนางานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ท้องถิ่น” ในการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดแนวทางการเขียนงานวิจัยด้านการพัฒนาท้องถิ่น และส่งเสริมงานวิจัยบนฐานความคิดกลไกใหม่ เพื่อตอบโจทย์ของชุมชนและแก้ไขปัญหาของพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการอบรมครั้งนี้เป็นการอบรมออนไลน์ผ่านระบบ Microsoft Team มีผู้เข้าร่วมอบรม 30 คน
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ได้บรรยายถึงความสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่นว่า ปัจจุบันท้องถิ่นกำลังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเกิดจากการกระจายอำนาจและการกระจายตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึง แม้ว่าในแต่ละพื้นที่จะมีต้นทุนด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอยู่แล้วก็ตาม ดังนั้น นักวิจัยจึงมีบทบาทในฐานะผู้ออกแบบกลไกใหม่ที่จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งประชาชนในพื้นที่ โรงเรียน รพสต. เทศบาลตำบล ไปจนถึงผู้บริหาร โดยใช้องค์ความรู้เป็นเครื่องมือสร้างระบบนิเวศน์ของพื้นที่ ขับเน้นความเป็น “เมืองดี ของเด่น คนดัง” สร้างผลลัพธ์ที่ย้อนกลับมาให้ท้องถิ่นมีความเจริญก้าวหน้า รักษาสินทรัพย์ที่ยังมีอยู่ได้ยั่งยืน ซึ่งสำหรับนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทุกพื้นที่ล้วนต้องใช้นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของศตวรรษที่ 21
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภวัฒนากร ยังได้อธิบายถึงยุทธศาสตร์ของ ออวน. เกี่ยวกับการตั้งโจทย์วิจัยเชิงพื้นที่ และวิธีการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยให้มีประสิทธิภาพ โดยเน้นการวิเคราะห์ Gain point และ Pain point ของพื้นที่เป็นหลัก ใช้ความต้องการในการบริโภค (demand) เป็นตัวตั้ง และใช้การศึกษาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) เป็นหนึ่งในระเบียบวิธีวิจัย หากนักวิจัยตั้งองค์ประกอบตามนี้ นอกจากจะช่วยย่นระยะเวลาการดำเนินงานได้แล้ว ยังทำให้ข้อเสนอโครงการวิจัยมีผลกระทบที่เห็นเป็นรูปธรรม ตอบโจทย์การให้ทุนตามยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้ด้วย โดยมี บพท. เป็นหน่วยงานหลักในการกระตุ้นให้นักวิจัยสร้างการเปลี่ยนแปลง
สำหรับนักวิจัยที่สนใจเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาพื้นที่ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบข้อมูลของเมือง แผนธุรกิจ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจ BCG และกลไกการเงิน ร่วมกับบุคลากรจากหลายภาคส่วน ซึ่งจะเป็นการยกระดับให้งานวิจัยสามารถสนับสนุนนโยบายขององค์กรและประเทศ
