หน่วย บพท.เชิญนักวิจัย ศูนย์ OPSCD COLA KKU ร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาดให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เชิญนักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นOPSCD COLA KKUร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาดให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

            ด้วย ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU มุ่งเน้นการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมสนับสนุนการวิจัย และบริการวิชาการหลัก ในระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2566 นักวิจัยประจำศูนย์ฯ นำโดย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ  ผศ.ดร.ฌาน เรืองธรรมสิงห์ และ ผศ.ดร.พัชรินทร์ พูลทวี จึงได้รับเชิญจากหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้เข้าร่วมแสดงผลงานของเครือข่ายพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City Alliance) ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE)  พร้อมร่วมประกาศความร่วมมือระหว่างเครือข่ายการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาดด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลสาธารณะสำหรับเมือง ที่นําไปสู่กลไกข้อมูลสาธารณะของการพัฒนาเมืองให้เกิดความสามารถทางการแข่งขัน เกิดการจ้างงาน ลดความเหล่ือมล้ำ และยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนความเจริญของเมืองอย่างยั่งยืน ในกิจกรรมการประกาศความร่วมมือระหว่างเครือข่ายการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด ด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลสาธารณะสำหรับเมือง และ การประชุมวิชาการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Smart City Conference) ครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 22 – 23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

            ยิ่งไปกว่านั้น รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นักวิจัยประจำศูนย์ฯ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ บพท. ยังได้รับเชิญให้เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาถึง 2 เวทีด้วยกัน อันประกอบด้วย เวทีเสวนาแรก เรื่อง “ความหวังของเศรษฐกิจใหม่ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับ เมือง” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้แทนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้แทนจาก บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด บริษัท ระยอง พัฒนาเมือง จำกัด บริษัท ขอนแก่น พัฒนาเมือง จำกัด บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด ผู้แทนนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และ รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำานวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร บพท. เวทีที่สอง คือ เวทีเสวนา “เรื่องของเมือง เมืองเชียงใหม่” เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน อย่าง ผู้แทนจาก สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สาขาล้านนา) ผู้แทนจากกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และรศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์ มาร่วมพูดคุยถึงกระบวนการการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาเมืองเชียงใหม่ บนพื้นฐานของกระบวนการมีส่วนร่วมและบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ณ ศูนย์สร้างสรรค์เพื่อการพัฒนา เมืองเชียงใหม่ (URC) ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา

            อนึ่ง งานการประกาศความร่วมมือระหว่างเครือข่ายการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาดด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลสาธารณะสำหรับเมือง และการประชุมวิชาการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Smart City Conference) ครั้งที่ 2 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการเมืองที่มีความสามารถทางการแข่งขัน เกิดระบบการจ้างงาน ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตลอดจนการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561 – 2580) อันมีหมุดหมายที่สำคัญคือ การพัฒนาพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย และเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนเกิดการขยายตัวมากขึ้น เกิดการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม และพัฒนาเมืองให้มีความน่าอยู่อย่างยั่งยืน มีความพร้อมที่จะรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ และสอดคล้องกับการพัฒนาแผนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 ที่มีความพร้อมจะยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดังนั้น หน่วย บพท. จึงเล็งเห็นความจำเป็นในการเร่งรัดกลไกการวิจัย เพื่อจะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (Digital Infrastructure) ที่เข้ามาส่งผลให้เมืองเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเมืองเองจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดการลงทุนของเมือง (Investment) เพราะหากเมืองเกิดการลงทุนอย่างถูกต้อง จะนำมาซึ่งโอกาสที่มากขึ้นและความเสี่ยงที่น้อยลงของเมือง จนนำไปสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ในที่สุด โดยกระบวนการที่จะนำไปสู่เมืองน่าอยู่คือการพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาด (Smart City) โดยการใช้ข้อมูลและความรู้ (Data Driven Society) เพื่อช่วยให้เมืองตัดสินใจได้เร็วและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาดให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทาง หน่วย บพท. ร่วมกับกลไกเครือข่ายการพัฒนาเมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable and Smart City Aliance) ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน จัดงานดังกล่าวขึ้น