OPSCD COLA KKU ร่วมเรียนรู้กลไกการเงินเพื่อเศรษฐกิจสีเขียว หลังธปท. สภอ. ร่วมกับ โครงการการสร้างกลไกทางการเงินใหม่ เพื่อยกระดับและเพิ่มการกระจายตัวของเศรษฐกิจสีเขียวในระดับพื้นที่ เปิด “Round Table”

ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU ลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้ หลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ร่วมกับ โครงการการสร้างกลไกทางการเงินใหม่ เพื่อยกระดับและเพิ่มการกระจายตัวของเศรษฐกิจสีเขียวในระดับพื้นที่ ภายใต้การสนับทุนวิจัย จากหน่วยบริหารโครงการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดกิจกรรม “Round Table”กลไกการเงินเพื่อเศรษฐกิจสีเขียว

          ด้วยวิสัยทัศน์ของศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU คือ “ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมวิชาการที่เป็นเลิศด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างความยั่งยืนในประเทศไทย และด้วยในวันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2566 โครงการการสร้างกลไกทางการเงินใหม่ เพื่อยกระดับและเพิ่มการกระจายตัวของเศรษฐกิจสีเขียวในระดับพื้นที่ อันมี รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล เป็นหัวหน้าโครงการนั้น ได้มีการจัดการอภิปรายแบบโต๊ะกลม ในหัวข้อเรื่อง “กลไกการเงินเพื่อเศรษฐกิจสีเขียว”ขึ้น ณ ห้องปัญญาวิจิตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สภอ. ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่  จึงได้มีการลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้กลไกการเงินเพื่อเศรษฐกิจสีเขียว จากกิจกรรมดังกล่าวด้วย

          สำหรับการจัดการอภิปรายแบบโต๊ะกลม ในหัวข้อเรื่อง “กลไกการเงินเพื่อเศรษฐกิจสีเขียว” ในครั้งนี้ได้ เชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลไกการเงินและเกษตรเข้าร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยน และสะท้อนมุมมองจากหลากหลายหน่วยงาน โดยมุ่งเน้นประเด็นการมีส่วนร่วมของภาคการเงิน มหาวิทยาลัย และเอกชน ในการเข้าถึงเงินทุนซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเกษตรกร โดยใช้เศรษฐกิจสีเขียวเป็นการยกระดับไปพร้อมกับภาคเกษตรกรรม และเป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในปัจจุบัน อย่าง ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่ และการกระจาย ศูนย์กลางความเจริญ บพท. คุณสุวิทย์ เศรษโฐ  ตัวแทนภาคผู้ประกอบการบริษัท กฤษณกรณ์ ออร์กานิค ฟาร์ม จำกัด คุณประสิทธิ์ พันธุ์โบ ผู้จัดการสวนผักยายปาว อ.พระยืน จ.ขอนแก่น ตัวแทนภาคเกษตรกร กำนันบุญมา สาชิต ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตและส่งออกมะม่วงตำบลป่าปอ อ.บ้านไผ่ ตัวแทนสถาบันการเงิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน) ตัวแทน บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (ฝ่ายภูมิภาค) รศ.ดร. ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.สุภาภรณ์ พวงชมภู คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ คุณสิริพร จังตระกุล  เลขาธิการสมาคมส่งเสริม ผู้ลงทุนไทย

          โดยทาง รองศาสตราจารย์ ดร. ไกรเลิศ ทวีกุล ในฐานะหัวหน้าโครงการ ได้อธิบายถึงความสำคัญของโครงการและการมีส่วนร่วมของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่ได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 โดยจะโครงการดังกล่าวนี้ได้มีส่วนให้ Young Smart Farmer เข้ามามีส่วนขับเคลื่อนเพื่อหากลไกทางการเงิน รวมถึงเป็นการทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งการเสวนาวันนี้จะเน้นไปที่เรื่องกลไกทางการเงินและการแก้ไขปัญหาร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการถอดบทเรียนไม่เห็นจุดแข็ง และปรับระบบคิด จากเดิมที่จะต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐไปสู่เชิงรุกมากขึ้นและมีความเป็นรูปธรรม

          ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วปท.มข. ในฐานะที่เป็นนักวิจัยประจำหน่วยงานฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ บพท. และฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีภารกิจให้นโยบาย และตรึงเป้างานวิจัยภายใต้การรับทุนจาก บพท. ได้กล่าวถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่ของแต่ละกลไก อันมีสาระโดยสังเขปดังนี้ “สำหรับกลไกแรกคือการประสานความร่วมมือ เพราะไม่มีใครที่สามารถทำงานได้ตามลำพังจึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกันและกัน กลไกต่อมาคือข้อมูล เพราะการมีข้อมูลจะทำให้ทราบถึงศักยภาพที่ทำ หากขาดข้อมูลจะไม่ทราบถึงศักยภาพและสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป ในขณะเดียวกันข้อมูลเปิดก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับภาคการเงินในการลงทุน จะเห็นได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีความพร้อมเรื่องของข้อมูลมาก และส่วนต่อมาก็คือลงทุน โดยเป็นโจทย์ที่สำคัญที่ทำให้เกิดกลไกทางการเงิน เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวสำหรับกลุ่มที่ยังไม่เข้าถึงโอกาส ทาง บพท. จึงให้ความสำคัญกับกลไกทางการเงิน ซึ่งจะทำให้เกิดโจทย์เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเขียวที่กำลังเป็นแนวโน้มในปัจจุบันที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งทำโจทย์วิจัยที่มีแรงบันจากภายในและภายนอกที่มีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรทั้งหมด ดังนั้นภาคส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อมีการขยับ ธนาคารพาณิชย์อื่นจะต้องดำเนินการตาม รวมถึงสถาบันทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารด้วยเช่นกัน บพท. จึงเห็นว่ากลไกทางการเงินจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญเป็นอย่างมาก”

          สำหรับช่วงเริ่มการอภิปรายวันนี้ คุณสิริพร จังตระกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ในฐานะผู้ดำเนินการอภิปรายในครั้งนี้ ได้ให้ความเห็นว่าจากการเรียนรู้ทั้งหมด 26 อำเภอ ทำให้เห็นว่าขอนแก่นโมเดลมีความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองขอนแก่น ซึ่งในพื้นที่ก็มีงานวิจัยในหลายเรื่องที่ได้มีการศึกษาแต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานหรือนำมากำหนดเป็นแผน จึงได้เกิดความร่วมมือขึ้นมาในภายหลังเพื่อที่จะตั้งโจทย์การวิจัยที่สามารถนำมาใช้ได้กับภาคเกษตรกรรม เช่น เศรษฐกิจสีเขียว การทำ CSR และ BCG ที่จะถูกนำมาใช้ ในขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือการไปตามกระแสโลกให้ได้ กล่าวคือเป็นการทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นเท่าทันกระแสโลก การเสวนาในครั้งนี้จึงเป็นการถอยบทเรียนที่สำคัญในการผลักดันให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลายมาเป็นบทเรียนและขยับไปสู่พื้นที่อื่นในฐานะโมเดลต้นแบบ โดยมุ่งเน้นให้ภาควิชาการและธนาคารรวมถึงผู้ประกอบการ มาช่วยกันถอดบทเรียน

          ผู้อภิปรายคนแรก คือ คุณสุวิทย์ เศรษฐโฐ กล่าวว่าการส่งเสริมการยกระดับการมีรายได้มีหลายแนวทางและมีหลายความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการรวมกลุ่ม แนวทางการยกระดับสินค้าอินทรีย์ ความท้าทายฐานะการเงิน และความท้าทายด้านการยกระดับ แต่เกษตรกรในปัจจุบันไม่ได้ทำเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยุ่งยากได้ส่วนใหญ่แรงงานเกษตรกรเป็นแรงงานสูงวัย ทำให้ในปัจจุบันนี้ทุกอย่างจะต้องมีการจ้างทั้งหมดตั้งแต่ขั้นตอนการดูแล การใส่ปุ๋ย และการนำไปส่งโรงสี จะเห็นได้ว่าแนวโน้มในปัจจุบันนี้ราคาสินค้าเกษตรที่แม้ว่าจะผลิตได้จำนวนมากแต่ก็มีราคาลดลง ปัญหาการทำเกษตรอินทรีย์ยังเกิดจากความไม่เห็นถึงความสำคัญ แต่เดิมทีเกษตรอินทรีย์จะไม่ใช้ปุ๋ยเคมี การทำแบบเดิมนี้อาจจะไม่สามารถทำได้แล้ว การทำเกษตรอินทรีย์เป็นข้าวอินทรีย์ล้านไร่ได้ปิดโครงการไปแล้ว จากข้อมูลพบว่ายังมีเกษตรกรร้อยละ 50 ที่ยังคงดำเนินการอยู่ จำนวนที่ขาดหายไปนั้นเกิดจากการตรวจรับรองที่จะต้องใช้ผู้รับรองที่มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากตลาด คนที่จะทำเกษตรอินทรีย์ได้นั้นจะต้องมีการลงกลุ่มการเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อที่จะร่วมผลิตด้วยกันและทำด้วยกัน คุณสุวิทย์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าการก่อตั้งบริษัทที่ได้ทำมานั้นใช้เวลา 4-5 ปี แต่การถอดบทเรียนในครั้งนี้อาจช่วยลดระยะเวลาลงเหลือ 2 ปี แต่อย่างไรก็ตามตลาดอินทรีย์ของประเทศไทยยังไม่เปิดกว้าง และมีเฉพาะผู้ใช้ประจำเท่านั้นที่ยังคงให้ความสนใจกับตลาดนี้อยู่ แนวโน้มในปัจจุบันก็ยังคงมีการขยายและเชื่อมต่อไปยังจังหวัดที่ไม่มีตลาด โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มสหกรณ์ในเรื่องของการผลิต ส่วนตัวบริษัทจะเป็นผู้แปรรูปและเป็นตลาดให้ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับเกษตรกรเป็นหลักและไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

ส่วนคุณประสิทธิ์ พันธุ์โบ ผู้จัดการส่วนผักยายปาว และเป็น Young Smart Farmer ได้ให้ความเห็นว่าชุมชนมีผู้สูงอายุอยู่จำนวนมาก แล้วแต่ละบ้านก็มีผู้สูงอายุที่ยังคงปลูกผักไว้บริโภคในครัวเรือน จึงได้นำกลุ่มคนดังกล่าวมาปลูกผักจากเดิมที่บริโภคอย่างเดียวสู่การเป็นต้นแบบในการปลูกพืชในโรงไม้เพื่อนำไปขาย ในเวลาต่อมาจึงได้มีการรวมกลุ่มปลูกผักนำส่งโลตัส และนำมาสู่การตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องของความเป็นอยู่ ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการขยายตลาดจากโลตัสไปสู่ซีพี และมองว่าศักยภาพของกลุ่มมีความเพียงพอจึงได้มองหาตลาดใหม่ก็คือแม็คโคร ปัจจุบันนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาและได้มีการส่งผักไปทดสอบสารเพื่อให้ได้มาตรฐาน GMP ในขณะเดียวกันการได้มาตรฐานนี้จะต้องสถานที่คัดล้างผักและรถแช่เย็น ซึ่งในการดำเนินธุรกิจครั้งแรกน่าใช้เงินส่วนตัว และต่อมาได้กู้ยืมจากธนาคารเพื่อมาทำโรงเรือนและในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นสถานที่ดูงานของกลุ่ม Young Smart Farmer โดยมีสมาชิกที่ขึ้นแปลงใหญ่ 30 รายที่ปลูกตลอดทั้งปี แต่ถ้ารวมทั้งหมดก็ 161 ราย มีพื้นที่สาธารณะ 40 ไร่ที่ยังไม่รวมพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งมีการทำบัญชีในการส่งผักตามจำนวนแต่ละกันต่อเกษตรกร 1 รายเพื่อทำการบัญชี

คุญบุญมา สาชิต กำนันตำบลป่าปอ หมู่ที่ 2 ประธานวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตและส่งออกมะม่วงตำบลป่าปอ ได้กล่าวว่าการผลิตมะม่วงมีแต่ข้อดีก็คือ ยิ่งทำให้พื้นที่ป่ามีเพิ่มมากขึ้น และทำให้หน้าแล้งมีรายได้ การส่งออกมะม่วงที่ป่าปอไปยังเวียดนามทำให้พบว่ามะม่วงของพื้นที่ดังกล่าวมีเอกลักษณ์พิเศษ และได้นำมาสู่เป้าหมายในการส่งออกไปยังจีนและเกาหลีต่อ อย่างไรก็ตามการส่งออกโดยตรงอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงยังมุ่งเน้นไปที่ตลาดเวียดนามเป็นหลัก การปลูกมะม่วงนี้เริ่มดำเนินการมาแล้วเป็นระยะเวลา 20 ปี ภายในระยะเวลา 5 ปีสามารถเก็บมะม่วงได้ ส่วนเงินลงทุนนั้นจะมาจากเงินส่วนตัวเป็นส่วนมาก โดยนำไปใช้ในการเป็นโรงคัดแยก ในขณะเดียวกันอนาคตก็ได้วางแผนไว้ว่าจะมุ่งเน้นในเรื่องการทำคาร์บอนเครดิต

คุณยุทธศาสตร์ เดชศิริ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทำหน้าที่ดูแลทั้งบุคคลและนิติบุคคล โดยอธิบายว่าสวนผักยายปาวก็เห็นข้อจำกัดที่ควรเปลี่ยนเป็นรูปแบบบริษัท ซึ่งเป็นข้อจำกัดในเรื่องสินเชื่อที่เกิดขึ้นหลายอย่าง การลงกลุ่มจะมีข้อจำกัดที่ค่อนข้างเยอะและการกู้แบบกลุ่มก็เกิดปัญหาขึ้นเหมือนกันทั้งประเทศ ผู้กู้รายเดียวจะมีโอกาสสำเร็จกว่าเช่นเดียวกับผู้ที่มีการกูแบบทำเป็นนิติบุคคล ปัจจุบันทางธนาคารก็ได้มีสินเชื่อสีเขียวที่มีดอกเบี้ยถูก แล้วไม่ต้องใช้ที่ดินค้ำประกัน โดยเน้นไปที่การเก็บตัวเลขคาร์บอน ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ยังได้นำไปต่อยอดในหลายอย่าง เช่น การทำเกษตรกรรมที่พบว่าทุ่งนาที่มีน้ำเยอะจะมีก๊าซมีเทนเยอะ จากการเลือกสอบถามถึงเกษตรกรก็พบว่าก๊าซมีเทนที่มีอยู่ในน้ำนั้นมาจากการเลี้ยงปลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถลดลงได้ จึงได้มีการนำไปสู่การปรับเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันไปสู่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีการนำนโยบายของสำนักงานใหญ่มาใช้ในการขายคาร์บอนเครดิต โดยได้นำมาปรับใช้ในประเด็นของการพัฒนาที่ยั่งยืน และ BCG ที่ต้องให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดในการขับเคลื่อน

คุณภูวดล  ฮามวงศ์ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่าธนาคารมีผลิตภัณฑ์ตั้งแต่กลุ่มที่เล็กสุดไปยังถึงกลุ่มที่ใหญ่สุดที่มีการใช้เครื่องจักรเกษตรกรรมเพื่อการส่งออก แม้ว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินนั้นจะไม่สามารถสื่อถึงเศรษฐกิจสีเขียวได้โดยตรง แต่ก็สามารถนำมาปรับใช้และผสมผสานกับภาคเกษตรกรรมเองได้ นั่นหมายความว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารมีความยืดหยุ่นสูงและมีความคล่องตัวสูง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันปัญหาสำคัญของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กคือการไม่สามารถเข้าถึงทุนได้ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายมีสูงขึ้น แต่หากเป็นการรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่แบบครบวงจรก็จะสามารถปล่อยให้กู้ยืมแบบครบวงจรได้ นอกจากนี้ทางธนาคารก็ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการลดค่าไฟจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ในเวลาเดียวกันก็ได้มีการนำระบบทางการเงินมาใช้ควบคู่ไปกับปัญญาประดิษฐ์ เพื่อใช้ในการคำนวณทางด้านเงินกู้และก็อนุมัติวงเงินโดยไม่ใช้หลักประกัน

รองศาสตรจารย์ ดร. ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวว่าภาคเกษตรกรรมของไทยยังไม่ค่อยดี เพราะยังมี Agricultural Footprint สูง ทำให้เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญในการทำเกษตรกรรม โดยในปัจจุบันนี้เพราะว่าพื้นที่ของประเทศไทยร้อยละ 50 ยังมีการปลูกข้าว แต่ก็ยังไม่ได้มีการนำเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมาใช้ ห้ามองย้อนดูจะพบว่าเกษตรกร นโยบายภาครัฐ และเทคโนโลยีควรจะไปด้วยกัน เพราะเกษตรกรยังมีความเปราะบางและไม่มีความมั่นคง การนำเพียงแต่นโยบายของรัฐมาใช้จึงมีความเสี่ยงในเรื่องของความสำเร็จ รวมไปถึงผลที่ตามมาหลังจากที่ได้ดำเนินการไป เกษตรกรจึงมีความเสี่ยงอย่างมากและนำไปสู่ความเปราะบางในภายหลัง ในขณะเดียวกันรัฐก็ควรให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทาง ธกส.  ก็ได้มีการสนับสนุนทางด้านต้นทุนต่ำในการกู้ยืมเงิน แต่อาจจะต้องใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นในด้านประสิทธิผลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องมองให้เห็นถึงความสำคัญมากที่สุดก็คือการจะทำอย่างไรให้ตอบสนองได้ในวงกว้าง และจะต้องเห็นประโยชน์จากสิ่งที่ทำ รวมถึงการมีตลาดที่นำสินค้าไปขายและทำให้ราคาเท่ากับห่วงโซ่มูลค่าที่ชัดเจน

รองศาสตรจารย์ ดร. สุภาภรณ์ พวงชมภู อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายว่าเกษตรสีเขียวในภาครัฐคือ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา โดย Young Smart Farmer ก็คือนักธุรกิจเกษตรรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดทำธุรกิจทางการเกษตร แต่ในปัจจุบันนั้นช่องทางของกลุ่มคนดังกล่าวที่จะเข้าถึงทรัพยากรและทุนได้มีเพียงแต่การที่ต้องเดินตามรัฐอย่างเดียว สิ่งที่ช่วยได้คือตลาดนำ คือพืชผลทางการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันนั้นจะต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่จะนำมาขายด้วย หากมองถึงการปลูกอ้อยก็จะใช้ระยะเวลาทั้งหมด 1 ปี การปลูกอ้อยจึงเป็นการลงทุนที่สูงและนำมาสู่การทำเกษตรพันธสัญญา แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือข้าวอินทรีย์และผักปลอดภัย แต่ก็ต้องใช้ขั้นตอนที่มีความซับซ้อนในการตรวจสอบ การยอมรับในภาครัฐและเอกชนก็ยังไม่มีความสอดคล้องกัน รวมถึงในส่วนของสถาบันทางการเงินจะต้องเข้ามาให้เห็นถึงความสำคัญร่วมกับภาครัฐและสถาบันทางการศึกษา แม้ว่า Young Smart Farmer ทราบถึงกำไรและการขาดทุน แต่ก็พบว่ายังมีปัญหาถึงการนำข้อมูลมาใช้และความครบถ้วนของข้อมูล

นอกจากนี้ยังได้มีการนำผู้เข้าร่วมการอภิปรายในครั้งนี้มาถอดบทเรียน ผ่านผู้ประกอบการทั้งสองที่ได้มีการประกอบธุรกิจทางด้านเกษตร โดยเป็นผู้ที่ก่อตั้งฟาร์มมิสเตอร์คอน รวมถึงการทำฟาร์มจิ้งหรีดโดยมีรายละเอียดดังนี้

คุณนิตยา เหล่าบุรมย์ (Mr.Corn) ได้เลือกพื้นที่โนนท่อนในการก่อตั้งฟาร์ม และได้มีการเก็บเมล็ดพันธุ์มาขายและฝากขายตามร้านเกษตร และมองว่าหากดำเนินการด้วยวิธีเดิมๆก็คงจะได้รับผลกระทบ จึงได้มีแนวคิดในการทำข้าวโพดข้าวเหนียวขึ้นมา ด้วยการตัดแต่งพันธุ์โดยเฉพาะและมีการทำการตลาดโดยเริ่มจากการขายในชุมชน สู่เมือง และต่างจังหวัด จนนำไปสู่การแนะนำแบบปากต่อปาก จึงได้เกิดลูกค้าต่างประเทศเข้ามา

คุณภูดิส หาญสวัสดิ์ ได้มีการเลี้ยงจิ้งหรีด และมีการทำบัญชี กำไร ค่าแรง ค่าอาหาร และค่าเสื่อมสภาพ ในช่วงระหว่างการดำเนินการธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้ที่รวบรวมข้อมูลแปลงใหญ่ของเกษตร แต่จุดเด่นของการทำธุรกิจในการเลี้ยงจิ้งหรีดนี้คือการมีอาคารเลี้ยงโดยมีมาตรฐาน GAP ในการดำเนินธุรกิจมันตั้งแต่ปี 2564 สามารถขายจิ้งหรีดได้ 1 ตัน แต่ในปีล่าสุดก็คือ 2565 ขายได้จำนวน 3 ตัน  ซึ่งเป้าหมายในอนาคตคือยอดขายทั้งหมด 9 ตัน ปัจจุบันการเลี้ยงจิ้งหรีดต้องใช้ต้นทุนสูง แต่การใช้ต้นทุนสูงเป็นเพียงช่วงที่เริ่มแรกก็คือการลงทุนไปกับการสร้างอาคารในการเลี้ยงจิ้งหรีด โดยจุดคุ้มทุนในการเลี้ยงจิ้งหรีดก็คือจะต้องมีบ่อในการเลี้ยง 18 บ่อ เพื่อไม่ให้เกิดกำไรย้อนกลับ อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจในรูปแบบนี้ควรจะมีการทางธุรกิจแบบเดียวรวมกลุ่ม กล่าวคือ แต่ละครัวเรือนจะต้องมีบ่อเลี้ยงเป็นของตัวเอง และนำมาสู่การขายแบบลงกลุ่มเพื่อไม่ให้เกิดกำไรย้อนกลับ และยังเป็นการลดต้นทุนรวมถึงรักษาคุณภาพและปริมาณ สุดท้ายนี้สิ่งที่ควรระวังมากที่สุดก็คือ ราคาอาหารที่ใช้เลี้ยงจะมีสูงขึ้น ด้วย