OPSCD COLA KKU ร่วมกิจกรรม บพท. หวังสานต่อพันธกิจหาแนวทางการจัดหาทุนดำเนินการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU ร่วมกิจกรรมประชุมชี้แจงข้อเสนอโครงการปีงบประมาณ 2566 ของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หวังสานต่อพันธกิจหาแนวทางการจัดหาทุนดำเนินการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง

พันธกิจของศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (OPSCD COLA KKU) คือ เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับเมือง จังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทยและต่างประเทศ ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และหาแนวทางการจัดหาทุนดำเนินการพัฒนาเมือง และด้วยในวันพุธที่ 14 ธันวาคม 2565 เวลา 13:30 น. – 16:00 น. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้จัดการประชุมชี้แจงรับข้อเสนอโครงการวิจัยฉบับสมบูรณ์ กรอบการวิจัย “การยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่คนไกลการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างความเจริญและลดความเหลื่อมล้ำ ปีงบประมาณ 2566 ขึ้น ผ่านระบบออนไลน์ ในวันดังกล่าวคณะทำงาน และเครือข่ายการทำงานของศูนย์ฯ จึงได้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวอย่างหนาแน่น ยิ่งไปกว่านั้น รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ในฐานะนักวิจัยประจำหน่วยงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) ยังได้เข้าร่วมประชุมชี้แจงรับข้อเสนอโครงการวิจัยฉบับสมบูรณ์ (Full Proposal) กรอบการวิจัย “การยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่คนไกลการพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างความเจริญและลดความเหลื่อมล้ำ ปีงบประมาณ 2566” ด้วย

          โดยมี ดร. กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ เป็นผู้ชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนและการยกระดับกรอบการวิจัย “การยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ” ต่อด้วย รศ.ดร. วีระศักดิ์ เครือเทพ นำเสนอกรอบการวิจัย ภายใต้ประเด็น: การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformations) และ รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นำเสนอตัวอย่างผลงานวิจัย ที่สร้างผลกระทบสูง: องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ด้านดร. กิตติ สัจจาวัฒนา กล่าวว่า “เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของ บพท. มีด้วยกัน 4 เป้าหมายหลัก โดยเป้าหมายสุดท้ายคือผลประโยชน์ต้องตกอยู่ในคุณภาพชีวิตของประชาชนคนฐานรากทุกคน ผู้คน 40% ล่างสุดต้องได้ประโยชน์จากงานของเรา และต้องส่งผลกระทบเชิงนโยบาย เชิงระบบกลไกที่สำคัญ เรื่องแรกคือการขจัดความยากจน เรื่องที่สองคือเรื่องเศรษฐกิจฐานราก จากฐานทุนวัฒนธรรมและฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่น ที่เป็นสองฐานที่สำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างสำนึกรักบ้านเมือง เพื่อนำไปสู่การสืบสานและการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน เรื่องที่สาม ต้องทำการพัฒนาเมืองและระเบียงเศรษฐกิจ และเรื่องสุดท้ายคือ ต้องสร้างความเข้มแข็งของคนและกลไกในพื้นที่ โดยใช้วัฒนธรรมการทำงานเชิงคุณภาพ วัฒนธรรมการทำงานที่ใช้ข้อมูล และวัฒนธรรมการทำงานที่ใช้วิจัยและนวัตกรรม” 

จากนั้น รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ได้นำเสนอตัวอย่างผลงานวิจัย โดยกล่าวว่า “กลไกที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่มีความสำคัญมาก คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นองค์กรหลักที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน ได้ถูกยกระดับหรือหนุนเสริมด้วยชุดข้อมูลความรู้ วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม จะทำให้หลุดพ้นจาก Middle Income Trap (การติดกับ ดักรายได้ปานกลาง) ได้ ”จากนั้นได้นำเสนอถึงกลไกการผสานความร่วมมือในการพัฒนาเมือง ข้อมูลเมือง กลไกทางการเงิน และอื่นๆ จากนั้นได้กล่าวถึงหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) ที่เป็นหลักสูตรผสานความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นเกิดเป็นการปฏิบัติการบนฐานงานวิจัย เพื่อยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยข้อมูลความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่มีคุณค่าและมีมูลค่าเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้ในอนาคต