ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของ หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 ศึกษาดูงานอีสาน BCG จ.ขอนแก่น อย่างต่อเนื่อง พร้อมกิจกรรมกินพาแลงเบิ่งวัฒนธรรมอีสาน เดินทางเยี่ยมชมงานเทศกาลไหมและประเพณีผูกเสี่ยว หนึ่งเดียวในอีสานในงาน “เทศกาลไหมอีสาน soft power”

ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น Operations and Promotion Center for Livable Smart City Development (OPSCD COLA KKU) ร่วมเรียนรู้หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 หลักสูตรที่อิงอยู่บนฐานคิดประสบการณ์ของทุกคน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ กรอบการวิจัยยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดการอบรม ในหัวข้อปฏิบัติการบนฐานงานวิจัย ครั้งที่ 15 ร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่นที่เข้ารับการอบรมหลักสูตร พมส. ในวันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2565 ณ Khon Kaen Innovation Center (KKIC)
วันที่ 9 ธันวาคม 2565 กับการศึกษาดูงานเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) ครั้งที่ 15 ของผู้บริหารท้องถิ่นและภาคีพัฒนาพื้นที่จากทั่วประเทศ ในหลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 จำนวนกว่า 50 คน ณ Khon Kaen Innovation Center (KKIC)
“BCG” นั้นนับว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของภูมิภาค รวมถึงมีความหลากหลายทางชีวภาพและนวัตกรรม และเป็นการนำทุนทรัพยากรที่มีอยู่แล้วมาสร้างคุณค่า มาสร้างรายได้ระดับชุมชนและประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) พร้อมเปิดโอกาสให้มีการรวมตัวกัน ค้นหาจุดร่วม ค้นหาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน และจุดประกายนวัตกรรม เพราะว่าในพื้นที่เมืองขอนแก่นมีความหลากหลายทางชีวภาพ และสามารถเชื่อมโยงประชากร 1 ใน 3 กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทำให้ขอนแก่นที่เป็นเมืองหลักภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การจัดงาน ISAN BCG EXPO 2022 จึงได้ถูกจัดงานขึ้น ณ Khon Kaen Innovation Center (KKIC) และสถานที่แห่งนี้ยังเป็นความครอบคลุมถึงย่านศรีจันทร์ ถนนเส้นหลักที่เชื่อมโยงหลายภาคส่วนเข้าด้วยกัน
โดยในส่วนของพิธีเปิดนั้น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้ให้การต้อนรับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้ให้เกียรติเข้ามาร่วมงาน พร้อมกล่าวว่า ISAN BCG เป็นการสร้างตำนานและการทำธุรกิจภาคประชาชน ซึ่งปัจจุบันกลุ่มมิตรผลที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมนั้นได้มองถึง BCG โดยที่ไม่เน้นกำไรเป็นหลัก และได้ยกตัวอย่างถึงย่านสร้างสรรค์ศรีจันทร์ว่าเป็นการนำเอาถนนหลายสายที่เคยเป็นย่านเฟื่องฟู ความเจริญสูงสุด มาสู่การเริ่มเปลี่ยนและโรยรา คนรุ่นใหม่ไม่กลับมาสืบทอด ปรับเปลี่ยนมาให้หลายหน่วยงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุง ดังจะเห็นได้จากเอกชนเช่าตึกมาเพื่อปรับปรุงเป็นห้องพัก จุดประสงค์ครั้งนี้ คือการอยากให้คนค้าขาย คนทำธุรกิจรู้ว่า BCG เป็นการยกระดับรายได้ ในขณะเดียวกัน ดร. ศุภวรรณ ตีระรัตน์ จากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเมืองไมซ์ ซึ่งครอบคลุมทั้งทางเลือกต่าง ๆ เช่น การประชุมนานาชาติ และการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวคุณภาพ ISAN BCG จึงสอดคล้องกับแนวคิดจากยุทธศาสตร์ของชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 รวมไปถึงการประชุม APEC ครั้งล่าสุดนี้สะท้อนถึงการมุ่งหน้าดังกล่าวเพื่อสร้างความแข็งแรง และเป็นการกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เมืองไมซ์ของขอนแก่น จึงมีความพร้อมทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ จากการมีความพร้อมในเรื่องการคมนาคม และการอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจ รวมถึงการมีอัตลักษณ์ การเลือกจัดงานครั้งนี้จึงเป็นการเลือกดำเนินงานที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ BCG และเปิดประตูสู่กลุ่มประเทศ GMS และกลุ่มประเทศ CLMV มุ่งเน้นทางด้านอาหาร ความสร้างสรรค์ และอื่น ๆ
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้เกียรติบรรยายพิเศษในพิธีเปิดด้วยว่า “นี่ไม่ใช่เป็นเพียงการจัดงาน เป็นการ Recreate งานทั้งหลาย เพราะหลายอย่างที่สำคัญเกิดขึ้นในขอนแก่น จากสิ่งที่เห็นสภาพเดิม ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลง เมืองที่เติบโตต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเรื่องใดก็ตามต้องปรับตัวให้ทัน” นอกจากนี้ยังได้อธิบายถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ทางหลวง สนามบิน โดยสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ และในอนาคตที่จะถึงนี้จะมีรถไฟฟ้ารางเบาที่จะเข้ามามีส่วนสำคัญ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนมีความมั่นใจร่วมกัน ย้ำเตือนด้านโควิด เพราะหลักการเริ่มกลับมาคึกคัก จากการที่สนามบินเริ่มเข้ามามากขึ้น ทำให้จังหวัดขอนแก่นควรมีการเตรียมการไว้ เช่น ปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร ลานจอด จำนวนเครื่องบิน ซึ่งสำหรับขอนแก่นแล้วในแง่โครงสร้างขั้นพื้นฐานมีครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้ขอนแก่นเป็นเมืองเชื่อมอาเซียนกับแม่น้ำโขง ให้ความสนใจกับเรื่องการส่งเสริมการค้ากับการลงทุน โดยมุ่งเน้นการนำสินค้าผ่านแดน การค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศ GMS และการลงทุนกับภาคเอกชนในเรื่องของเกษตรกรรม เพราะกลุ่มประเทศในกลุ่มแม่น้ำโขงจะต้องมีการใช้เทคโนโลยีในภาคการเกษตร การขยายธุรกิจในกลุ่มแม่น้ำ ไม่ว่าจะฝั่งไทยและเพื่อนบ้าน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังได้เน้นย้ำว่าหลักการ 3R คือ Reduce Reuse และ Recycle ยังใช้ได้ เช่น ขวดพลาสติกสามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในรูปแบบของสินค้า อย่างสายการบินไทยสไมล์ที่นำมาใช้กับเครื่องแบบพนักงาน ส่วนในเรื่อง Bio เป็นการใช้ประโยชน์จากความหลายของธรรมชาติ เป็นเรื่องของภาคการศึกษาที่ต้องให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรมองข้ามในเรื่องของภูมิปัญญา (Wisdom) และควรเอาความทันสมัยมาใช้กับภูมิปัญญาตามคำพูดที่ว่า “เมืองที่จะเจริญนั้นควรจะรู้จักประวัติศาสตร์ตัวเอง” ทุกเมืองที่มีสถานที่ควรพิจารณาสร้างและต่อเติมเพิ่ม และการสร้างเมืองใหม่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลากระตุ้นให้คนมาเดินทางมา
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการ กลุ่มมิตรผล ได้บรรยายเรื่อง “ISAN 2030” เกี่ยวกับการขับเคลื่อนการพัฒนาภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือใน 8 ปีข้างหน้าและมองว่าขอนแก่นนั้นเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโต (Growth Area) และให้ความเห็นว่าการจัดงานครั้งนี้เป็น movement ไม่ใช่ one-shot โดยใช้เทคโนโลยีและยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าประเทศไทยนั้นเปลี่ยนแปลงง่ายในการขับเคลื่อน ดังนั้นขอนแก่นก็น่าจะง่ายกว่าเช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลพื้นที่เมืองของประเทศไทยพบว่าเป็นร้อยละ 50 แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลระหว่างเมืองและชนบทได้ จึงได้กลายมาเป็นประเด็นที่สำคัญเพราะเทคโนโลยีนั้นไม่มีปัญหาหลักที่จะทำให้ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางการเติบโต (Growth Center) นอกจากนี้ดร.พิเชฐ ยังได้ฉายภาพอนาคตในประเด็น “Scenario 2030” ออกเป็น 3 ประเด็นหลัก โดยการฉายภาพอนาคตแรกคือ การให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำ BCG ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคแห่งชาติแนะนำ ขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณและความร่วมมือ และให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ส่วนที่ที่สองคือระเบียงเศรษฐกิจโดยให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่จากการมีห่วงโซ่อุปทาน การวิจัยและพัฒนา และโครงสร้างพื้นฐาน ในส่วนสุดท้ายคือการเป็นพื้นฐานของทุกเรื่องโดยทำให้เห็น Digital Valley จากจุดแข็งของบริษัทต่าง ๆ และส่งเสริมคนรุ่นใหม่มาเป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี
นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งได้รับหน้าที่การบรรยายเรื่อง “Creating a Resilient Future with Sustainable Banking” โดยเน้นย้ำเรื่อง ESG ที่เป็นการเติบโตที่ต้องตอบสนองต่อความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันความต้องการมาตรฐาน ESG มีมากขึ้น การมองภาพต่าง ๆ จึงเป็นความท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องมีการตอบรับไปตามกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง ต้องเติบโตอย่างมีคุณภาพผ่านภาคการผลตและภาคบริการ ตอบโจทย์ความต้องการของกระแส และต่อมาคือต้องต่อยอดจุดแข็งที่มีอยู่ และสร้างความร่วมมือให้มีการเติบโตที่มีความแข็งแรงทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น SME และประชาชนให้มีความแข็งแกร่งและมีภูมิคุ้มกันทางด้านการเงิน ซึ่งการเปลี่ยนผ่านจะมีต้นทุน และควรคำนึงถึงจังหวะเวลา เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ต้องไม่ช้าและเร็วเกินไป และที่สำคัญคือจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ในส่วนสุดท้าย นายกลินท์ สารสิน ประธานอาวุโส หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บรรยายในส่วน “BCG and “Happy Model” Tourism” โดยมุ่งเน้น Happy Model คือการเน้นประสบการณ์นักท่องเที่ยวแต่ละแห่ง และในอนาคตมองว่าควรเป็นเมืองน่าอยู่ คนน่าอยู่ แผู้ประกอบการน่าอยู่ และนักท่องเที่ยวต้องมีความสุข โดย Happy Mode; นี้ประกอบด้วย การกินดี การอยู่ดี การออกกำลังดี และการแบ่งปันสิ่งดี ๆ โดยให้คนท้องถิ่นจุด Unseen เพื่อให้เกิดความประทับใจกับนักท่องเที่ยวแต่ละสาย เช่น สายศรัทธา สายธรรมชาติ สายวัฒนธรรม และสายการผจญภัยที่มีความถ้าทาย สำหรับแนวทางนั้นการสร้างความเข้าใจ ให้ทางราชการ เอกชน ท้องถิ่นเข้าใจ รวมถึงการมีส่วนร่วมพัฒนาบุคลากร ให้พร้อมกับโมเดลที่กำหนดไว้ และนำมาลงแพลตฟอร์ม เพื่อให้สามารถเอาไปใช้ได้ในอนาคต นำมาเป็นสินค้าและบริการ ทั้งหมดนี้คือคุณลักษณะการท่องเที่ยวคุณภาพสูง
สำหรับช่วงบ่ายเวลา 14.30น. ผู้เข้าร่วมหลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 ยังได้เข้าฟังการบรรยายพิเศษที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) อย่างต่อเนื่อง โดยหัวข้อแรก คือ “On China” ของนาย Joe Horn ซึ่งได้อธิบายถึงประเทศจีนจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยมีการเปรียบเทียบให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ด้านนาย Joe Horn ได้กล่าวว่าศักยภาพของประเทศจีนในสมัยปัจจุบันได้มีความสามารถสูงมาก แม้ว่าในกลุ่มประเทศ 10 อันดับแรกของโลกไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสหภาพยุโรป นาโต้ และอื่น ๆ ต่างก็ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงในระดับนี้ เพราะประเทศจีนในอดีตเป็นประเทศที่ถูกมองว่าแทบไม่มีประสิทธิภาพแต่อย่างใด จากกรณีตัวอย่างในปี 1997 ที่พบว่าในประเทศจีน แม้ว่าจะมีนักวิจัยจำนวนมาก แต่กลับพบว่าไม่สามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในยุคนั้นเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก แต่ในปัจจุบันนี้สามารถเข้าถึงได้เป็นอย่างมาก จนเกิดความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลง ดังจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแนวทางเทคโนโลยีให้โดดเดี่ยวและมีเป็นของตัวเองมากขึ้น เช่น ในฝั่งตะวันตกจะมี Google แต่ในประเทศจีนนั้นมี Baidu หรือการมี Amazon สำหรับการขายสินค้า ทางประเทศจีนก็มี Weibo ทั้งนี้นาย Joe Horn ยังได้ย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนถูกจับตามองและเป็นแหล่งที่น่าลงทุนจากประเทศจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานอย่างทางรถไฟได้รับการพัฒนาให้เชื่อมโยงได้แล้วหลายพื้นที่
ในขณะเดียวกันคณะผู้แทนจากหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand: JFCCT) ได้เข้าบรรยายเกี่ยวกับ BCG โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า BCG นั้นเป็นแนวคิดหนึ่งภายใต้ประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งเน้นไปที่การเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามแม้ว่าแนวคิดดังกล่าวนี้จะไม่ใช่สิ่งใหม่อย่างใด ทุกคนต่างเคยได้ยินหลายครั้ง และหลายสถานที่จนถึงล่าสุดการประชุม APEC ในปี 2022 คณะผู้แทนจากหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทยจึงเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งภารกิจที่สำคัญคือ การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การสนับสนุนผู้ประกอบการ การสนับสนุนทรัพยากร และการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นทำเลที่ตั้งสำคัญทางนวัตกรรม อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศไทยนั้นจะเป็นที่น่าจับตามองแต่ก็มีจุดที่น่าสังเกตคือเป็นประเทศที่มีการให้การสนับสนุนการลงทุนและนวัตกรรมน้อยที่สุดในกลุ่มประเทศของอาเซียน ทั้งนี้เป็นเพราะการรวมศูนย์อำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และกำลังคน ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้หากได้รับการแก้ไขก็จะเปิดโอกาสให้เข้าถึงการพัฒนานวัตกรรมได้อย่างเต็มที่
ท้ายที่สุด Manuel Madani ได้เข้ามาบรรยายต่อในหัวข้อ “Sustainable Urban Delta: A Food Producing City is a Liveable City” ซึ่งได้อธิบายถึงการอยู่อาศัยในเมืองที่สามารถผลิตอาหารได้เอง ภายแต่แนวคิดการที่เมืองสามารถผลิตอาหารและดำรงอยู่ได้เอง (Food-producing cities) โดยมองว่าอาหารนั้นเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเมือง ต่างจากแนวคิดเดิมที่มองเพียงเมืองเป็นสิ่งปลูกสร้างและลักษณะทางกายภาพ แต่แนวคิดใหม่นี้มุ้งให้ความสำคัญกับการบูรณาการความยั่งยืนในการผลิตอาหารและทำให้เมืองมีความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวดังคำว่า Livable ก็คือสามารถอยู่ได้และ Circular ที่หมายถึงการหมุนเวียนเพื่อตอบรับกระแส BCG และยังเป็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ดังเช่นตัวอย่างของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เป็นประเทศขนาดเล็กได้มีการนำแนวคิดการผลิตอาหารของเมืองมาใช้และเกิดความยั่งยืนและความมั่นคงทางด้านอาหาร
ยิ่งไปกว่านั้นภายหลังจากการฟังบรรยาย ยังได้มีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างเทศบาลนครนครสวรรค์กับศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ และบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ด้วยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเมืองท้องถิ่นร่วมกันต่อไป
จากนั้นในวันเดียวกัน ผู้เข้าร่วมหลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 ยังได้เข้าร่วมประเพณีผูกเสี่ยว ณ เฮือนผูกเสี่ยว หน้าศาลากลางเมืองขอนแก่น ท่ามกลางบรรยากาศของงานไหมที่ประชาชนเข้าร่วมกันอย่างหนาแน่น สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกของผู้เข้าร่วมหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูงที่ได้เข้าร่วมประเพณีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมกิจกรรมการผูกเสี่ยวซึ่งมีความหมายสำคัญและสื่อถึงประเพณีที่เก่าแก่และดีงามของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สำหรับจังหวัดขอนแก่นนั้นมีการจัดงานไหมในทุก ๆ ปี และได้เริ่มมีการผูกเสี่ยวมาแล้วตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา และการผูกเสี่ยวนี้เป็นการนำบุคคลทั้งสองมาผูกเพื่อแสดงถึงมิตรกัน สำหรับลักษณะการผูกเสี่ยวนั้นคู่ผูกเสี่ยวจะต้องมีลักษณะ ท่าทาง รูปร่าง หน้าตา อายุ อารมณ์ที่เหมือนกัน แต่ปัจจุบันภายใต้บริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เงื่อนไขดังกล่าวนี้เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน จากการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ประเพณีผูกเสี่ยวไม่ได้ถูกยึดติดกับแบบเดิมและมีความยืดหยุ่นและเข้าถึงง่ายมากขึ้น สอดคล้องกับแนวคิด Soft power ที่นำกลุ่มคนมารวมตัวกันได้มากและประเพณีกลายเป็นที่รู้จักกัน แต่ประเพณีนี้ก็ยังคงความหมายและประโยชน์มากมายในมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครอง เพราะการมีเสี่ยวทำให้เกิดการเข้ามารวมกันและเข้าหากัน ครอบครัวต่อครอบครัว หมู่บ้านต่อหมู่บ้าน อำเภอสู่อำเภอ ดังเช่นมิตรสหายหรือกัลยาณมิตรเหมือนกับการผูกเสี่ยวหมู่ของนักพัฒนาเมืองระดับสูงรุ่นที่ 1 ในวันนี้

หลังจากผู้เข้าร่วมหลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) ได้ผูกเสี่ยวแล้ว จึงมาเติมต่อกิจกรรมดีๆ อย่างกิจกรรมกินพาแลงเบิ่งวัฒนธรรมอีสาน ณ เฮือนฮักถักทอใจ โคกโพธิ์ไชยเมืองไชยวาน ของอำเภอโคกโพธิ์ไชย จังหวัดขอนแก่น ที่ได้มาจัดงานในวันนี้ โดยมีนายอำเภออำเภอโคกโพธิ์ไชย ให้การต้อนรับและบรรยายถึงลักษณะเด่นว่าเป็นบ้านไม้สองชั้น ใต้ถุนโปร่ง ชั้นบนมีห้องนอน ห้องครัว และมีพื้นที่ทำกิจกรรมของคนในครอบครัวในยามค่ำคืน โดยเรือนหลังนี้ให้ความสำคัญกับการออกแบบให้เกิดความอบอุ่นและความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวได้ใช้เวลาด้วยกัน ในเวลาต่อมานายไกรสร กองฉลาด ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้เข้ามาในงานและให้ความรู้ มุมมองและทัศนคติเรื่อง Soft power ในลักษณะการนั่งล้อมวงคุยกันโดยอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากอดีตสู่ปัจจุบัน โดยสื่อนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ต้องทำให้ Soft power ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นกลับมามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เช่น การทำละคร และการร้องเพลง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากเดิมที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างธรรมดาก็ได้เปลี่ยนไปสู่วัฒนธรรมประชานิยม (Popular Culture) โดยเฉพาะการร้องเพลงที่มีภาษาอีสานเข้ามามีส่วนในเนื้อหามากขึ้นเริ่มได้รับความนิยม เพราะมุมมองต่อความเป็นอีสานเปลี่ยนคนจึงรู้จักกันมากขึ้น และนายไกรสร กองฉลาดยังอธิบายเพิ่มเติมว่าสิ่งที่ทำให้ Soft power มีกำลังมากขึ้นเป็นเพราะทุกคนเป็นสื่อได้และทำให้อีสานได้เปรียบ ภายหลังจากการบรรยายจบผู้เข้าร่วมหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูงได้ร่วมกันรับประทานอาหารหน้าเฮือนฮักถักทอใจ โคกโพธิ์ไชยเมืองไชยวานพร้อมกับการรับชมการแสดง ทั้งนี้ Soft power ที่น่าสนใจและอยู่ไม่ห่างจากเฮือนโคกโพธิ์ไชย คือ สมุนไพร ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวเหนียวดำ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าฝ้าย กระเป๋าเสื่อกก หมอน แจกัน ตะกร้าเส้นใยยางพารา ไม้กวาด ขนมไทย ปลาแดดเดียว และปลาร้าบอง ซึ่งเป็นสินค้าประจำอำเภอและนับว่าเป็น soft power แบบหนึ่งก็ว่าได้















































