OPSCD COLA KKU เข้าร่วมในกิจกรรมของพมส.รุ่น 1 ยกทีมเยือนขอนแก่น ศึกษาดูงานอีสาน BCG

ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น Operations and Promotion Center for Livable Smart City Development (OPSCD COLA KKU) ร่วมเรียนรู้หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 หลักสูตรที่อิงอยู่บนฐานคิดประสบการณ์ของทุกคน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ กรอบการวิจัยยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดการอบรม ในหัวข้อปฏิบัติการบนฐานงานวิจัย ครั้งที่ 14 ร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่นที่เข้ารับการอบรมหลักสูตร พมส. ในวันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น

ครั้งที่ 14 กับการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ (Active Learning) ให้กับนายกเทศมนตรีทั่วประเทศด้วยข้อมูลและความร่วมมือระดับประเทศ กับหลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 หลักสูตรที่อิงอยู่บนฐานคิดประสบการณ์ของทุกคน ภายใต้หัวข้อ “Smart local government” ข้อมูลเคลื่อนเมือง ยกระดับท้องถิ่นไทยด้วยข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ลงมือปฎิบัติการบนฐานของงานวิจัย และกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กรอบการวิจัยยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่วม และสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย โดยในวันที่ 8 ธันวาคม 2565 นั้น หลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) รุ่นที่ 1 ได้กำหนดการศึกษาดูงานเกี่ยวกับ การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) ขึ้น ณ โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น

ช่วงพิธีเปิดการศึกษาดูงานฯ ได้รับเกียรติจาก นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น และ รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยนวัตกรรม โปรแกรมที่ 15 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวต้อนรับ ผู้บริหารท้องถิ่นและภาคีพัฒนาพื้นที่จากทั่วประเทศ จำนวนกว่า 50  คน ต่อด้วยการเสาวนา “รูปธรรมของการบูรณาการ คำตอบของการพัฒนาเมือง” โดยมี รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ให้เกียรติกล่าวนำการเสวนาว่า “ในช่วง 8-10 ธันวาคม 2565 นี้ ถือเป็นช่วงเวลาพิเศษ เนื่องจากเป็นการผนวกความร่วมมือระหว่างหลักสูตร พมส. และจังหวัดขอนแก่น โดยเฉพาะเรื่องของ BCG Model ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้เห็นการเคลื่อนตัวของการพัฒนา แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเราตั้งโจทย์ให้กับผู้บริหารของหลายๆบริษัท นั่นคือการนำ BCG  มาลดความเหลื่อมล้ำ หรือจะทำให้การพัฒนาเมืองยั่งยืนได้อย่างไร นั่นคือเป้าหมายที่เราต้องคำนึงไว้” จากนั้นเป็นการเสวนา โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธ์  รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น นายกังวาน เหล่าวิโรจนกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง(KKTT) และนายเจริญลักษณ์ เพชรประดับ เลขาธิการมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า ให้เกียรติเป็นผู้ดำเนินรายการ ในหัวข้อ “รูปธรรมของการบูรณาการ คำตอบของการพัฒนาเมือง”

          สำหรับการเสวนาในครั้งนี้เป็นการเล่าถึงประสบการณ์การพัฒนาเมืองของจังหวัดขอนแก่นโดยเล่ากล่าวผ่านหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของนักพัฒนาเมือง มุมมองของภาควิชาการ และมุมมองของภาคเอกชน เพื่อชี้ให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างการในการดำเนินงาน แต่ต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือการร่วมมือกันพัฒนาเมืองขอนแก่นจากทุกภาคส่วน จนทำให้ขอนแก่นแปรเปลี่ยนกลายมาเป็นเมืองแห่งโอกาส และเป็นเมืองน่าอยู่อย่างในปัจจุบันนี้ 

และปิดท้ายกิจกรรมในวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ด้วย กิจกรรม CDE Dinner Talk โดยมี นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวในฐานะเจ้าบ้าน ว่า “เด็กจากจังหวัดอื่นที่มาเรียนในขอนแก่น ส่วนใหญ่มาเรียนแล้วต่างก็หลงเสน่ห์เมืองขอนแก่น เรียนจบแล้วอยากทำงานที่ขอนแก่น เด็กบางคนเสียดายมากว่าเมื่อจบไปแล้วจะไปทำงานที่ไหน เพราะปริมาณงานไม่ได้มากพอที่จะรองรับพวกเขา ขณะเดียวกันขอนแก่น ก็กำลังค่อย ๆ ต่อจิ๊กซอว์ เช่น จิ๊กซอว์ตัวแรกคือ smart city ซึ่งพอเป็น smart city เสร็จ หน่วยงานต่าง ๆ โครงการต่าง ๆ มีภาคเอกชนกล้ามาลงทุนมากยิ่งขึ้น มีธุรกิจตามมามีงานรองรับมากขึ้นมี การจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ลูกหลานที่เกิดหรือเรียนในขอนแก่น เมื่อเรียนจบก็จะได้ทำงานที่นี่ เพราะมีอาชีพรองรับ ไม่ต้องเข้าเมืองหลวงหางานทำอย่างในอดีต” พร้อมเล่าถึงเป้าประสงค์การจัดกิจกรรม Isan BCG Expo 2020 งานมหกรรมนวัตกรรมยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอีสานและครั้งแรกในประเทศ เพื่อเชิญชวนผู้บริหารท้องถิ่นและภาคีพัฒนาพื้นที่จากทั่วประเทศ ร่วมงานเพื่อรับชมการแสดงถึงศักยภาพแห่งนวัตกรรมและความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของภาคอีสาน ส่งเสริมการเรียนรู้การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับให้ทุมิติเติบโต พร้อมผลักดันโมเดลเศรษฐกิจสู่การเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ยกระดับเทคโนโลยีทางการเกษตร อาหาร ตลอดจนการท่องเที่ยวและเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่การพัฒนาท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาค ระหว่างวันที่ 8-10 ธันวาคม 2565