ศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น Operations and Promotion Center for Livable Smart City Development (OPSCD COLA KKU) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการผสานเครือข่ายภาครัฐและเอกชนของเทศบาลนครขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนของ บพท. ในการขับเคลื่อนเมืองมุ่งสู่ขอนแก่นเมืองคาร์บอนต่ำ

การวิจัยเพื่อพัฒนาเมือง เป็นบทบาทหนึ่งที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้ความสำคัญ และด้วยวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 โครงการการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำน่าอยู่อย่างยั่งยืน กรณี จังหวัดขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยมีเทศบาลนครขอนแก่น เป็นหน่วยงานดำเนินโครงการ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน อย่าง สมาคมธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า หน่วยงานราชการ โรงพยาบาล โรงเรียนในเขตเทศบาล และสถาบันอุดมศึกษา จัดการประชุมกิจกรรมการพัฒนาและจัดทำระบบ City Dashboard ขึ้น ณ โรงแรมวีวิช ขอนแก่น รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นักวิจัยประจำศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ในฐานะนักวิจัยประจำหน่วยงานฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมโปรแกรมวิจัย 15 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้นำทีมสนับสนุนลงพื้นที่จริง เพื่อเข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าวด้วย โดยไม่เพียงแต่ชูธงแผนงาน “การพัฒนาเมืองและกลไกการเติบโตใหม่” ตึงเป้าเกิดฐานข้อมูลเปิดของเมืองเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (City Data Inventory) และ City Carbon Footprint ในพิธีเปิด อันมีใจความโดยสังเขป ดังนี้ “กลไกการประสานความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ หรือการประสานข้อมูลเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ทำให้เกิดการลงทุน ล้วนคือสิ่งที่ต้องขับเคลื่อน และไม่ลังเลที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะ จ.ขอนแก่น ของเรา จะเป็น market place การสร้างงาน และเป็นต้นแบบการทำงานตั้งแต่ระดับจุลภาค จนถึง มหภาคให้ที่อื่น ๆ ดู” แต่ทว่ายังร่วมขับเคลื่อนเป้าประสงค์ของกิจกรรม คือเพื่อจัดการและพัฒนาระบบข้อมูลเปิดของเมืองที่มีอยู่ และส่งต่อการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนเมือง เพื่อให้เมืองมีระบบในการประเมินปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (City Carbon Footprint – CCF) ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองนำไปสู่การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ด้วย
























